Phones





TMB สภาพคล่องแกร่ง ไร้แผนเพิ่มทุน

2020-08-17 18:00:44 343




นิวส์ คอนเน็คท์ – TMB ประเมินสินเชื่อปี 63 ทรงตัวจากปีก่อน แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่มองโอกาสการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและพลังงาน ที่ยังมีโอกาสเติบโต ขณะที่การช่วยเหลือลูกค้าได้มีการปรับแพกเกจให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ส่วนการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทย 3.15 พันล้านบาท ได้ตั้งสำรองไว้แล้ว 50%


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการและกรรมการธนาคาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารในปี 63 ยังคงประเมินว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา แม้ในปัจจุบันจะมีผลกระทบจากการระบาดของไว้รัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อลดลง รวมทั้งธนาคารก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ แต่ในภาวะวิกฤติก็ยังมีโอกาสในบางกลุ่มธุรกิจเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจไฟฟ้า ที่ยังคงสามารถเติบโตได้


สำหรับการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ในปัจจุบันธนาคารได้มีการจัดทำแพกเกจเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และธนาคารได้มีการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่และแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารสามารถใช้เงินทุนที่เตรียมไว้ในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ปัจจุบันอยู่ที่ 2.34% ลดลงจากไตรมาส 1/63 ที่อยู่ในระดับ 2.76% โดยธนาคารได้มีการตัดขายNPL บางส่วนออกไป แม้จะกระทบต่อกำไรบ้าง แต่เป็นการเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือลูกหนี้รายอื่นๆของธนาคาร


ขณะที่ประเด็นหุ้นกู้ของการบินไทย (THAI) ซึ่งภายหลังจาก TMB และธนชาตได้มีการรวมกิจการพบว่ามีการลงทุนอยู่ในหุ้นกู้ THAI รวมกันราว 3.15 พันล้านบาท โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตั้งสำรองตามเกณฑ์ไปแล้ว 50% ของเงินลงทุน ซึ่งถ้าหากการฟื้นฟูกิจการของ THAI เป็นไปตามแผน ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มเติม และจะได้รับเงินที่ตั้งสำรองไว้กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม สภาพของธนาคารในปัจจุบันยังเพียงพอที่รองรับการขยายสินเชื่อ และความเสี่ยงในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนอีกอย่างน้อยในช่วง 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 64-65


ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปถึงปีหน้า โดยสิ้นปีนี้จะคุมให้ไม่เกิน 3% จากปัจจุบัน 2.3% ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีการตั้งสำรอง และตัดขายหนี้ออกไป โดยปัจจุบันธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.5% ซึ่งจากสถานการณ์ NPL จะทำให้เงินกองทุนลดลง 2% มาอยู่ที่ 16-17% โดยถือว่าเพียงพอต่อความไม่แน่นอนในอนาคต


อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3-4 นี้ธนาคารยังมีความจำเป็นที่ต้องตั้งสำรองมากขึ้น โดยเหตุผลหลักมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หมดลงในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ และ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่พบว่า มีลูกค้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เยอะสุดประมาณ 40% สินเชื่อรายใหญ่ 20% และ ที่เหลือเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews