นิวส์ คอนเน็คท์ - “สุพัฒนพงษ์” เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน หนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ เร่งเปิดโรงไฟฟ้าชุมชนกำหนดกรอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หวังเปิดเอกชนยื่นปลายปีนี้ ทบทวนราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน ลดค่าใช้จ่ายพลังงาน
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมเวิร์คช็อปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ว่า ตนยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนในระยะสั้นจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็ว หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาคพลังงานนั้นเป็นตัวหลักที่จะสามารถดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอกลับมาฟื้นตัวและแข็งแรงได้ โดยจะเน้นสร้างการมีส่วนร่วมบนฐานความเข้าใจเข้าถึงประชาชน โดยอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะสั้นนั้น กระทรวงพลังงานได้เร่งการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะต้องทำตามวัตถุประสงค์ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งเอกชนที่จะมาลงทุนต้องมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงานและมีการรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสมด้วย เพื่อเป็นการสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการศึกษากรอบการลงทุนให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน หลังจากนั้นก็คาดหวังว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ปลายปีนี้ แล้วเริ่มผลิตเชิงพาณิชณ์ได้ต้นปี 64
ขณะเดียวกัน การเดินหน้าเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นเมื่อพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ โดยยังสามารถยึดตามแผน PDP 2018 เดิมได้ แต่จะมีบทแทรกโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าไปในแผนดังกล่าว เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนตัวเลขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะนำร่องนั้น คาดว่าจะมีการส่งเสริมอยู่ในระดับ 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาชัดเจนก่อน ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่จะต้องนำร่อง 100 เมกะวัตต์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับไปทบทวนราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ให้สูงขึ้นกว่าราคาที่ประกาศรับซื้อเดิมที่กำหนดรับซื้อไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาลงทุน
พร้อมกันนี้ จะเร่งทบทวนมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับรถยนต์ (NGV) ให้เกิดความต่อเนื่องออกไปอีก เพื่อเป็นการลดภาวะของประชาชน ขณะที่งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 64 ต้องทบทวนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการสร้างงาน สร้างรายได้
สำหรับความคืบหน้าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ที่มีเอกชนหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งก็เป็นไปตามแผน และกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยคาดว่าจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายในปีนี้
ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่สูงระดับ 40% นั้น ขณะนี้ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร แต่แนวทางที่ต้องพิจารณา คือ การสร้างโครงข่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของอาเซียน โดยในเบื้องต้นคาดว่าในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีจะสามารถเริ่มดำเนินการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศกัมพูชา และเมียนมาได้ เพื่อจะได้นำไฟฟ้าปริมาณสำรองส่วนเกินขายให้ประเทศเพื่อนบ้านได้
>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews