Phones





TMBประเมินส่งออกครึ่งปีหลังฟื้นตัว

2020-08-24 15:24:54 340



นิวส์ คอนเน็คท์ – TMB ประเมินภาคการส่งออกของไทยมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง รับแรงหนุนจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พลังงาน อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องประดับ พร้อมแนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว และรับมือความเสี่ยงจากการค้า


เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 253 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าในครึ่งปีหลังของปี 63 จะฟื้นตัว จากกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวม


โดยในครึ่งปีแรกสถานการณ์การส่งออกของไทยที่ไม่รวมสินค้ารายการพิเศษ (ทองและอาวุธ) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนถึง 11.9% โดยลดลงมากที่สุดในไตรมาส 2/63 ถึง 20.9% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องมาถึงในครึ่งปีหลัง แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มจะคลี่คลายในหลายประเทศ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องต่อสู้กับการระบาด โดยจากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 4.9% แม้จะมีปัจจัยบวกจากตลาดจีนที่ฟื้นตัวชัดเจนหลังการระบาดตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นมา แต่การส่งออกไทยครึ่งปีหลังของปี 63 ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน


อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 โดยประเมินจากปัจจัยลักษณะสินค้าและทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งได้แก่ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าบริโภค นโยบายปลดล็อกประเทศในโครงสร้างตลาดส่งออก ภาวะตลาดส่งออกก่อนเกิดการระบาด ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินแบ่งการฟื้นตัวของการส่งออกได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่ง ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในตลาดจีนที่ฟื้นตัว โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรกส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน มีมูลค่าส่งออกรวม 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 12.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด


สำหรับกลุ่มสองคือ สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/63 ได้แก่ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร สินค้าในกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระดับราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในช่วงเดือนมี.ค. – พ.ค.63 ช่วยพยุงในเรื่องของราคาสินค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง 9.2% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน มีมูลค่าส่งออกรวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 61.8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด


ขณะที่ในกลุ่มสามคือสินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 64 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องแต่งกายและเครื่องประด้บ สินค้ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อที่หดหายจากทั่วโลกกระทบต่อสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อรายได้ เป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งต่างประเทศทำให้เสียเปรียบและเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มถูกผลกระทบจากการกีดกันการค้าทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง 24.2% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน มีมูลค่าส่งออกรวม 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 25.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด


ทั้งนี้ จากผลการประเมินแนวโน้มสินค้าส่งออกข้างต้น จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกมีแนวโน้มที่เติบโตและฟื้นตัวในปี 63 มีสัดส่วนถึง 74.5% ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ในครึ่งปีหลัง โดยนอกจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สถานการณ์การค้าโลกจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ทั้งสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน นโยบายกีดกันทางการค้า การแข่งขันทางด้านราคาที่จะมีมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน


ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวมากขึ้นเพื่อรักษาตลาด ประคองธุรกิจเพื่อรอการฟื้นตัว เช่น การเสาะหาตลาดใหม่เพื่อลดกระจุกตัวของตลาด การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า การพัฒนาศักยภาพในการผลิต การมีมาตรฐานคุณภาพสินค้า และเพิ่มสินค้าใหม่ตามวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยภาครัฐสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพด้านการตลาดมากขึ้น ด้วยการหาช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มเติม การประสานงานและเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดเพิ่ม และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews