Phones





KBANK หั่นเป้าจีดีพีปี63ดำดิ่งติดลบ10%

2020-08-28 15:09:01 372




นิวส์ คอนเน็คท์ - KBANK หั่นจีดีพีไทยปี 63 ติดลบ 10% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 6% รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 โควิด ขณะที่ตัวเลขการส่งออกติดลบหนัก 12% รวมถึงความเสี่ยงจากค่าเงินบาท และปัญหาการเมืองในประเทศ ด้านตัวหนี้ NPL ระบบแบงก์พาณิชย์ยังน่าเป็นห่วง   


เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะติดลบที่ระดับ 10% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 6% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื่อเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง ขณะที่การส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 12% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 6.1%


ทั้งนี้ มองว่าความไม่แน่นอนดังกล่าวจะทำให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปแบบ U-Shaped ซึ่งการจะประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใดนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากของรัฐบาลที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอ และทันเหตุการณ์ในสภาวการณ์ที่ไม่นิ่ง แต่ต้องอาจจะต้องแลกกับต้นทุนจากการออกมาตรการ เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัส เมื่อทยอยเปิดประเทศ


ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 63 จะขยายตัว 6.5-8.0% เทียบกับที่ขยายตัว 2.3% ในปี 62 ซึ่งการเติบโตสูงกว่าปกติ สะท้อนผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้า และ ภาคธุรกิจที่ขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องมากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแท้จริง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประเด็นคุณภาพหนี้(NPL)ที่มีโอกาสจะขยับขึ้นสู่ระดับ 3.5% ณ สิ้นปี 63 เทียบกับ 3.23% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.63 ขณะที่แม้ภาครัฐจะต้องระดมทุนอีกจำนวนมากในตลาดการเงิน แต่เชื่อว่าเครื่องมือของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีอยู่จะช่วยบริหารจัดการไม่ให้กระทบอัตราดอกเบี้ยในระบบได้ รวมทั้งเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันก็เติบโตสูงราว 9-10% จากปีก่อน 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลน่าจะมีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของภาระหนี้ เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ หลังจากในช่วง 6-8 เดือนแรกรัฐบาลได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องต่างๆราว 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งประสิทธิผลของมาตรการเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับระดับการลดความเสี่ยงเครดิตของลูกค้า หรือการผ่อนปรนเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับสถาบันการเงิน 


สำหรับความเข้มแข็งของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ปัจจุบันทั้งระบบมีสถานะเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5-9.5% และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมีสภาพคล่องในระดับสูง จึงมองว่าธนาคารพาณิชย์จะยังสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการประคองลูกค้าผ่านวิกฤตได้


ขณะที่นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สถานการณ์รายได้ของธุรกิจ แม้จะมีบางพื้นที่ที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นบ้างตามนโยบายทยอยเปิดประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้ภาวะปกติ โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนกิจการที่มีความเปราะบาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่รัฐบาลอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง  


ในส่วนของทิศทางค่าเงินบาทสิ้นปี 63 นี้ ประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยเชื่อว่าแนวโน้มเงินบาทจะทรงตัวในระดับดังกล่าว และไม่น่าจะปรับตัวลดลงหลุดระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่กระแสเงินทุนยังคงมีการไหลออกสุทธิตั้งแต่ปลายปี 62 ซึ่งเกิดจากการทำกำไรที่ลดลงของบริษัทจดทะเบียน ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับนโยบายเงินเฟ้อ สะท้อนว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย และยังคงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำในระยะถัดไป รวมถึงการใช้มาตรการ QE


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews