Phones





ก.พลังงานทำแผนพีดีพี2022 ลดโควตาโรงไฟฟ้ากฟผ.

2020-09-13 20:58:40 714




นิวส์ คอนเน็คท์ - ก.พลังงานเตรียมจัดทำแผนพีดีพี 2022 (ฉบับใหม่) ช่วงปลายปีนี้ เผยโรงไฟฟ้าใหม่โควตา กฟผ.ส่อหลุดออกไปจากแผน 2-3 โรง กำลังการผลิตราว 2,000 เมกะวัตต์ เหตุโควิดกระทบเศรษฐกิจ ฉุดยอดใช้ไฟลด


แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่นั้น เบื้องต้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีความเห็นว่า ควรจะดำเนินการในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากต้องการให้เห็นผลกระทบจากการการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ที่ส่งผ่านไปยังผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ให้ชัดเจนก่อน และการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ จะดำเนินการภายใต้ชื่อ "แผน PDP 2022" เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน


ทั้งนี้ จากผลสำรวจผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น สถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศในปี 63 คาดว่าจะลดลง 5.3% ภายใต้สมมติฐาน สศช.คาดว่า GDP จะปรับลดลงในช่วงติดลบ 5% ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะปรับลดลงราว 3% ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงราว 40% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงพลังงาน กำลังเร่งแก้ไข โดยมีแผนจะลดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้ลงไปอยู่ในระดับ 30% แต่คงไม่สามารถดูแลให้กลับไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมราว 15% ได้ ขณะที่ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจของ สศช. ล่าสุดเดือน ส.ค. 63 รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 63 (มี.ค.-มิ.ย.) พบว่า ติดลบ 12.2% ส่วนทั้งปีนี้คาดว่า GDP จะติดลบ 7.8 % ถึง ติดลบ 7.3% จากเดิมคาดว่า จะติดลบ 5% ถึงติดลบ 6%


ดังนั้น การจัดทำแผน PDP 2022 อาจจะต้องเลื่อนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบในช่วง 5 ปีนี้ออกไป โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแผน PDP 2018 จะหายไปประมาณ 2-3 โรง หรือราว 2,000 เมกะวัตต์ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5 ปี (2563-2568) ตามแผนPDP 2018 ที่ยังไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อาจจะต้องถูกเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ออกไปก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าในระยะยาวนั้น กระทรวงพลังงาน ยังเดินหน้าส่งเสริมให้ กฟผ. เร่งผลักดันการซื้อขายไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน หรือการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน รวมถึงอาจพิจารณาแนวทางปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.และของเอกชนออกจากระบบเร็วขึ้น เพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้า และจะช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศด้วย


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews