Phones





SCB หั่นเป้าจีดีพีติดลบ7.8% จับตาเม็ดเงินกระตุ้นศก.

2020-09-14 17:29:46 271




นิวส์ คอนเน็คท์ – SCB ปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบ 7.8% จากเดิมที่คาดติดลบ 7.3% หลังเศรษฐกิจเผชิญความเปราะบางในตลาดแรงงานและการปิดกิจการของธุรกิจ พร้อมจับตาเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล  


เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 แต่จากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบางประเทศเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น และทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปมีแนวโน้มฟื้นตัวในลักษณะชะลอตัว


นอกจากนี้ การทยอยปิดกิจการ และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดแผลเป็น (scarring effects) ต่อเศรษฐกิจโลก และกลายเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในระยะถัดไปได้รวมถึงมาตรการการคลังที่มีส่วนประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดอายุลง หรือ ได้รับการต่ออายุแต่ในขนาดที่เล็กลงในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  


ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วนจะมีการฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 แต่การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลงในช่วงหลังจากนี้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง ดังนั้น EIC ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหลือเพียง 6.7 ล้านคน และปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปี 63 เป็นติดลบ 7.8% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 7.3%  


สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐยังคงเป็นส่วนสำคัญในการช่วงพยุงเศรษฐกิจ แต่การที่จำนวนเงินช่วยเหลือออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยจำนวนเงินล่าสุดที่ได้รับอนุมัติภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 4.75 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียง 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ที่ 6 แสนล้านบาท  


ในส่วนของนโยบายการเงินคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี และ พร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ขณะที่ค่าเงินบาทสิ้นปีนี้คาดว่าจะเตลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ การดำเนินนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นของสหรัฐ


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews