นิวส์ คอนเน็คท์ - คมนาคม Kick-off ยางพาราผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนนภาคอีสาน เริ่มนครพนม - บึงกาฬและเลย คาดช่วงระหว่างปี 63 - 65 ดูดซับยางพารา 1,007,951 ตัน ยกระดับราคายาง คาดเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 30,108 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำน้ำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ว่า จ.นครพนมเป็นจังหวัดแรกในภาคอีสานที่กระทรวงคมนาคมได้ Kick Off นำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และนำยางพาราทางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) มาใช้เป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน
โดยนำร่องบริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ ต.ญาติ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม
การดำเนินโครงการนำยางพารามาใช้เป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนนยังช่วยพลักดันราคายางให้เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคายางก้อนถ้วย ขึ้นสูงถึง 43 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมราคา 20 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงเดือน ส.ค.63 ส่วนราคาน้ำยางอยู่ในระดับ 43 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 61.31 บาท
ภายหลังจากเปิดโครงการ Kick Offที่จ.นครพนมแล้ว จะดำเนินโครงการในภาคอีสานอีก 2 จังหวัด คือ จ.บึงกาฬ และ จ.เลย ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดมีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับต้นๆ ของภาคอีสาน
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามนำยางพารามาแปรรูปในหลายรูปแบบ แต่ยังใช้ยางพาราน้อย โดยปี 61 ใช้ยางพาราในโครงการรัฐบาล 87000 ตัน ปี 62 ใช้ 102,000 ตัน
โดยโครงการนี้มีเป้าหมายจะใช้ยางพารา 1,007,951 ตันในระหว่างปี 63 - 65 คาดใช้งบลงทุนราว 85,000 ล้านบาทในการลงทุนผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน และคิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท โดยปีนี้ทางกระทรวงคมนาคมของบกลางไปแล้ว 2,700 ล้านบาท และในปี 64 คาดจะของบในวงเงินใกล้เคียงปี 63
>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews