Phones





พลังงานไม่หวั่น เชฟรอนร้องอนุญาโตกรณีรื้อถอน142แท่น

2020-10-05 13:40:49 652




นิวส์ คอนเน็คท์ - รมว.พลังงานลั่น หาก PTTEP เข้าพื้นที่ล่าช้า ไม่กระทบต่อการใช้เชื้อเพลิงของประเทศ เพราะมีคลัง LNG รองรับนำเข้าอยู่แล้ว ด้าน “พงศธร” แย้ม เจรจากับเชฟร่อนต่อเนื่อง มีสัญญาณที่ดี มั่นใจได้ข้อสรุปเข้าพื้นที่ปีนี้ พร้อมเข้าพื้นที่กลางปี 64 ติดตั้งแท่นก่อน 8 แท่น


เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ว่า กรณีที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ยื่นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งปิโตรเลียม G1/61 เอราวัณที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 65 นั้น ได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ตั้งคณะทำงาน ทีมกฏหมายทั้งในและต่างประเทศ และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดีแล้ว ก่อนหน้านั้นกระทรวงพลังงานก็ได้พยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางเชฟรอนฯ มาตลอดเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ดีที่สุด


ทั้งนี้ หากการเจรจามีปัญหาไม่เป็นไปตามแผน หรือทำให้ขั้นตอนการเข้าพื้นที่ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) มีความล่าช้าก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้การใช้เชื้อเพลิงของประเทศไทย เนื่องจากมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีการดำเนินการลงทุนคลังแอลเอ็นจี หรือ LNG Receiving Terminal ไว้รองรับการนำเข้าเชื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยู่แล้วที่มาบตาพุด ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างแห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตันต่อปี ที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งจะรองรับนำเข้า LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า กรณีที่เชฟรอนฯ ยื่นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณนั้นเป็นเรื่องขั้นตอนการดำเนินการอย่างเป็นทางการตามขั้นตอนของเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเชฟรอนฯ กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน



ส่วน PTTEP ได้เจรจากับเชฟรอนฯ ต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร และมีสัญญาที่ดี ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่าการเจรจาขอเข้าพื้นที่จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทาง PTTEP จะขอเชฟรอนฯ เพื่อเข้าไปดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตก่อน 8 แท่นกลางปี 64 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนความรับผิดชอบเรื่องค่ารื้อถอนนั้น PTTEP จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐรับโอนมาตามสัดส่วนเฉพาะที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่ได้มีการคำนวณตัวเลขที่ชัดเจนออกมา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือน ต.ค. 62 ทางเชฟรอน สหรัฐอเมริกา ได้ระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะยื่นฟ้องต่อรัฐไทยเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันภายใน 180 วัน หรือภายใน มี.ค. 63 ตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร้องขอ แต่การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผล เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังยืนยันที่จะให้เชฟรอนวางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รัฐรับโอนเพื่อใช้ประโยชน์ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐไม่ได้รับโอนอีก 49 แท่น ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559 ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในขณะที่ทางเชฟรอน พร้อมที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนเฉพาะ 49 แท่นที่รัฐไม่ได้รับโอนเท่านั้น ทั้งนี้ กรมเขื้อเพลิงธรรมชาติ มีการประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น สำหรับแท่นผลิตปิโตรเลียมทั่วไป ประมาณ 8-10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแท่น


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews