Phones





รฟม.แจงปมปรับTORรถไฟฟ้าสายสีส้มยันไม่เกิดค่าโง่แน่นอน

2020-10-06 15:45:27 539




นิวส์ คอนเน็คท์ - รฟม.แจงปมปรับแก้ TOR รถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเพียงปรับวิธีการประเมินข้อเสนอ ยันดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายไม่ทำให้เกิดการเสียหาย หรือเอื้อต่อเอกชนรายใด ขณะ 14 ต.ค.นี้ พร้อมเคลียร์ทุกประเด็ดมั่นใจชนะคดียันจะไม่เกิดค่าโง่แน่นอน ชี้หากศาลตัดสินชี้ขาดพร้อมเร่งดำเนินการเปิดยื่นข้อเสนอ 9 พ.ย.63 ประกาศผลผู้ชนะต้นปี 64


เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวภายในงานแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า กรณีปรับเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคา (TOR) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นเป็นเพียงการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา โดยแบ่งเป็นด้านเทคนิค 30 คะแนน ด้านราคา 70 คะแนน และมีการปรับปรุงวิธีการประเมินดังนี้


1) การปรับปรุงเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐอื่นได้เคยดำเนินการในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ทั้งนี้ การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับจากการได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านเทคนิคในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ส่งผลให้ประชาชนได้รับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงที่สุด และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะของ รฟม.


2) การดำเนินการต่างๆ ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ได้มีการพิจารณาและคำนึงถึง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว 3) รฟม. ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อสื่อมวลชนแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 63 ทั้งนี้ รฟม. จะได้พิจารณาดำเนินการชี้แจงเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างการรับรู้ต่อประชาชนต่อไป โดยจะคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินการ ทางศาลในคดีดังกล่าวควบคู่กันด้วย เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดของการดำเนินกิจการของรัฐ


ทั้งนี้การปรับวิธีการประเมินนั้นยังเป็นเป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถดำเนินการได้อีกทั้งจากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ดำเนินการก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และยังไม่ส่งผลเสียหายต่อเอกชนรายใด ไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างงานโยธาที่เป็นร่ายใหญ่ในประเทศต่างก็มีประสบการณ์ก่อสร้างและมีเทคนิคด้านการขุดเจาะอุโมงศ์เกือบทุกราย ซึ่งในด้านเทคนิคก็ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง และมาตรฐานอุปกรณ์การเดินรถมาเป็นเกณฑ์การให้คะแนน ดังนั้นหากด้านเทคนิคมีคะแนนเท่ากันก็ต้องไปตัดสินกันที่ด้านราคาว่ารายได้จะเสนอผลตอบแทนให้รัฐได้มากกว่ากัน


อย่างไรก็ตามจากคำร้องและคำฟ้องของ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ทางรฟม.ได้เตรียมข้อมูลคัดค้านต่อศาลปกครองกลาง ตามกำหนดนัดไต่สวนวันที่ 14 ต.ค.นี้ โดยจะชี้แจงในทุกประเด็นตามคำฟ้อง เรื่องการดำเนินการของ รฟม.ที่ทำตามกฎหมายหรือไม่ และการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในเอกชนยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ซึ่งประเด็นนี้ รฟม.มีข้อมูลพร้อมชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 36 และดำเนินการอย่างรอบคอบ อีกทั้งภายในคณะกรรมการมาตรา 36 ยังประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย เชื่อถือได้ เช่น ตัวแทนจากอัยการ ตัวแทนด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญในระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น


พร้อมกันนี้รฟม.มั่นในว่าจะชนะคดีนี้ เนื่องจากตามปกติแล้ว ศาลจะพิจารณาจากผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่ในกรณีนี้ BTS ยังไม่ได้เป็นผู้เสียหาย เพราะยังไม่ได้มีการยื่นประมูล และเป็นเพียงการยืนขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอฟังคำตัดสินของศาล ว่าจะมีคำสั่งยกคำร้องหรือคุ้มครองหรือไม่ ซึ่ง รฟม.ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย ขณะเดียวกันรฟม.ยังได้ขยายเวลาให้เอกชนทุกรายได้ปรับข้อเสนอ โดยมีเวลาเตรียมตัวมากกว่า 70 วัน ดังนั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนรายใด


ทั้งนี้ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลางไต่สวนในวันที่ 14 ต.ค. 63 ก็ต้องรอฟังคำสั่งศาล ซึ่งหากไม่มีคำสั่งคุ้มครอง รฟม.ก็จะดำเนินตามขั้นตอนประกวดราคาต่อไป แต่ถ้าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองตามคำร้องของ BTS รฟม.ก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำร้องคุ้มครอง โดยรฟม.กำหนดจะเปิดรับข้อเสนอเอกชนในวันที่ 9 พ.ย. 63 หลังจากนั้นจะใช้เวลาประชุมคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ย่อย พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และภายหลังจัดทำข้อกำหนดหลักเกณฑ์ย่อยแล้วเสร็จ รฟม.จึงจะเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ใช้เวลาพิจารณารายละ 1 สัปดาห์ และคาดว่าภายในเดือน พ.ย.63 จะสามารถประกาศเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาซอง 1 ด้านคุณสมบัติ และประกาศผู้ชนะการประมูลภายในต้นปี 64


ส่วนกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นห่วงในกรณีหาก รฟม.แพ้คดีครั้งนี้ อาจทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าโง่แก่เอกชนเพราะต้องชดเชยความเสียหาย โดยเรื่องนี้ รฟม.ขอชี้แจงว่าไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากตามคำฟ้องและคำร้องของบีทีเอส ไม่มีการระบุถึงการเรียกร้องข้อเสียหาย อีกทั้ง รฟม.ปรับเกณฑ์คัดเลือกนี้ ดำเนินการเปิดรับข้อเสนอ ดังนั้นยังไม่มีเอกชนรายใดได้รับความเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นเงินชดเชย


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews