Phones





“สุพัฒนพงษ์”ขีดเส้น หลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนต้องเสร็จต.ค.นี้

2020-10-22 14:57:34 319




นิวส์ คอนเน็คท์ – “สุพัฒนพงษ์” สั่ง เร่งปรับหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค.นี้ หวังเสนอ กพช.เห็นชอบ พ.ย. 63 พร้อมเปิดยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้า ม.ค. 64 เบื้องต้นนำร่องก่อน 100-150 เมกะวัตต์ พร้อมสรุปแนวทางการคัดเลือกโครงการระหว่างการประมูลแข่งขัน หรือการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า


เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า ได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และจะต้องให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)


โดยในเบื้องต้นจะจัดทำเป็นโครงการนำร่อง รับซื้อประมาณ 100-150 เมกะวัตต์และจะดำเนินการเปิดประมูลภายใต้กรอบแผน PDP 2018 Rev.1 ส่วนรูปแบบการคัดเลือกนั้นมี 2 รูปแบบ คือ แนวทางประมูลแข่งขัน หรือ การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะต้องดูว่าจะใช้การคัดเลือกแบบใด แต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเกษตรกรได้รับการประกันราคา และต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งหากหลักเกณฑ์ฯชัดเจนแล้ว ก็จะเสนอคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไปในเดือน พ.ย.63


ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนให้สมบูรณ์แบบ หลังจากได้จัดรับฟังความคิดเห็น (โฟกัสกรุ๊ป) เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งมั่นใจว่าจะดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 63 และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณของ กพช.ในเดือนพ.ย.นี้


อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ กพช.เห็นชอบแล้วจาก ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องดำเนินการออกระเบียบประกาศรับซื้อไฟฟ้าใหม่ และต้องเปิดประชาพิจารณ์ ประมาณ 15 วันตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา ฉะนั้น ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดเป้าหมายเดิมที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าในปลายปีนี้ ไปเป็นเดือน ม.ค. 64


สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ เบื้องต้น ยังไม่ได้ข้อสรุปวิธีการคัดเลือกโครงการฯ ว่าจะเป็นการเปิดประมูลแข่งขัน (บิดดิ้ง) หรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้หลายฝ่ายยังมีข้อกังวลว่า อาจเกิดการดัมพ์ราคาค่าไฟและสุดท้ายนำไปสู่การละทิ้งโครงการฯ ฉะนั้นในประเด็นนี้ ภาครัฐได้เตรียมแนวคิดที่จะกำหนดให้มีการวางเงินค้ำประกันโครงการ หรือแบงก์การันตีให้กับภาครัฐในวงเงินที่สูงขึ้น แต่อยู่ระหว่างกำหนดวงเงินที่เหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ และจะต้องกำหนดบทลงโทษให้เข้มงวด เพื่อป้องกันการละทิ้งโครงการ
 
>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews