Phones





ครม.ต่อเวลา-เพิ่มวงเงินซอฟต์โลนช่วยภาคท่องเที่ยว

2020-11-03 15:52:30 335




นิวส์ คอนเน็คท์ - ครม.สัญจร อนุมัติปรับเกณฑ์สินเชื่อซอฟต์โลนช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว พร้อมปรับวงเงินใหม่ต่อรายสูงถึง 100 ล้านบาท โดยขยายเวลาถึงมิ.ย.64 รวมถึงลดภาษีน้ำมันเครื่องบินเหลือ 0.20 บาท เป็นเวลา 5 เดือน ต่อลมหายใจธุรกิจสายการบิน   


เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) จังหวัดภูเก็ต มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง โดยให้ขยายขอบเขตด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และปรับปรุงวงเงินสินเชื่อต่อราย จาก 20 ล้านบาทต่อรายเป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย  


นอกจากนี้ ยังขยายเวลายื่นคำขอจากเดิมสิ้นสุด 30 ธ.ค. นี้ เป็นสิ้นสุดโครงการ 30 มิ.ย. 64 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งยังขยายขอบเขตคุณสมบัติของเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการพีจีเอส ซอฟต์โลน พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงเอสเอ็มอีท่องเที่ยว โดยคิดค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3  


รวมทั้งขยายระยะเวลารับคําขอสินเชื่อซอฟต์โลนออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 โดยปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องวงเงินไม่เกินรายละ 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชําระเงินต้น 1 ปี  


นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลารับคําขอสินเชื่อเอ๊กซ์ต้า แคช วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลา 5 ปี  


ขณะที่ ครม.ยังอนุมัติ ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสําหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือลิตรละ 0.20 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.64 โดยการดำเนินการดังกล่าว เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการสายการบิน และส่งผลให้สายการบินสามารถปรับลดค่าโดยสารลงจากเดิม ทําให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงและตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews