Phones





EXIM BANK ประเมินจีดีพีปี64ขยายตัว4%

2020-11-16 16:15:31 379




นิวส์ คอนเน็คท์ - EXIM BANK ส่องตัวเลขจีดีพีไทยปี 64 กลับมาขยายตัว 2.5-4% และคาดตัวเลขส่งออกเติบโต 4% ด้านผลประกอบการของธนาคารในปีนี้ยอมรับขาดทุนราว 1,000 ล้านบาท หลังแบกภาระสำรองหนี้กว่า 6,000 ล้านบาท จากการปรับมาใช้ IFRS9


เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาพรวมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 63 คาดว่าจะติดลบ 7% ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวที่ระดับ 2.5-4% ในปี 64 ขณะที่คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะกลับมาขยายตัว 4% โดยปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคการส่งออกของไทย คือ ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในโลกธุรกิจที่ปรับโฉมใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง


นอกจากนี้ มองว่าการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ผู้ส่งออกไทยปรับตัวได้ดี ในการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายและทนต่อแรงเสียดทานได้ดี เช่น การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือเปลี่ยนวิธีการทำตลาดให้เหมาะสมกับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง เช่น ปรับดีไซน์ เครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้มีราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ 



สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในปี63 คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างน่าจะเติบโตได้ 5-6% คิดเป็นวงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีปัจจุบัน 130,000 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะขาดทุนสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) มากกว่า 6,000 กว่าล้านบาท  


อย่างไรก็ตาม การตั้งสำรองดังกล่าว จะทำให้ธนาคารมีความเข้มแกร่งขึ้น แม้ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังจะอนุญาตให้ใช้มาตรฐานบัญชีใหม่สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐออกไปอีก 5 ปี แต่สำหรับธนาคารมีความจำเป็นต้องเร่งเพิ่ม เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีการติดต่อทำธุรกรรมกู้และการให้สินเชื่อกับต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าเชื่อถือ และมีความจำเป็น  


สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในกลุ่ม CLMV มียอดการปล่อยสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีสินเชื่อคงค้างราว 30,000 กว่าล้านบาท และหากมีการเปิดสำนักงานตัวแทนที่เวียดนาม จะสามารถสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนและทำการค้าเพิ่มเติมได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจพลังงานที่มีศักยภาพในการขยายตัวได้ดี  


ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% โดยจะพยายามรักษาไว้ที่ระดับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการและเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าวงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว มีประมาณ 5% หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ที่เป็นกลุ่มอ่อนไหว และจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษ



>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews