นิวส์ คอนเน็คท์ - กฟผ.กางแผน5-10ปียกระดับสู่เทคโนโลยีพลังงาน พัฒนานวัตกรรมผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี ลงทุนติดตั้งระบบสายส่งเชื่อมอาเซียนรองรับซื้อขายไฟฟ้า พร้อมลุยระบบแซนด์บ็อกซ์รองการซื้อขายไฟฟ้าแบบเพียร์ทูเพียร์
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 นางวีนัส หลงสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายในงานสัมมนา EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020 ว่า ธุรกิจไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมารองรับทั้งการผลิตไฟฟ้า การซ่อมบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเทคโนโยลีใหม่ๆ ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้กฟผ.จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สิ่งใหม่ๆควบคู่ไปกับธุรกิจดั้งเดิมโดยวางแนวทางสู่ EGAT Smart Energy Solution ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า
สำหรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจในช่วงระยะ 5-10 ปี ข้างหน้าจะดำเนินการลงทุนใน 10 ด้านประกอบด้วย 1.ระบบผลิตไฟฟ้าเดิมที่ผลิตด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้้า และเชื้อเพลิงฟอสซิล 2. ขยายระบบผลิตไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้ด้วย ประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลง 3. จัดหาเชื้อเพลิง LNG เพื่อใช้ที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อสร้างธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ 4. ขยายการเชื่อมต่อระบบส่งให้เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน (Energy Trading) ในภูมิภาค เพื่อยกระดับเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในอาเซียน
ส่วนในด้านที่ 5. เสริมการลงทุนระบบส่งให้รองรับความผันผวนจาก RE ด้วยระบบกักเก็บพลังงาน 6. เสริมระบบโครงข่าย Smart Grid ด้วยระบบ RE Control Center และ Trading Platform 7. เสริมคุณภาพชีวิตของวิสาหกิจชุมชนด้วยโครงการ โรงไฟฟ้าชุมชน จากเชื้อเพลิงชีวมวล 8. พัฒนาธุรกิจ Behind the Meter เพื่อรองรับการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าภายในชุมชน 9. ส่งเสริมการใช้ EV ตามนโยบายภาครัฐ และพัฒนาธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10. ศึกษาและเตรียมการพัฒนาธุรกิจ Waste to Value เพื่อก้าจัดซากแผงโซล่า และแบตเตอรี
นายสมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ที่เป็นระดับยูนิคอร์น (Unicorn ) หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกฟผ.มีเป้าหมายที่จะมีส่วนในการเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างยูนิคอร์นให้ไทยเกิดขึ้นเนื่องจากงานวิจัยและพัฒนาของไทยมีจำนวนมากแต่ยังขาดการบริหารจัดการหรือการมีผู้กำกับที่ดี
ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ 5-10 ปี นั้น กฟผ.ยังจะดำเนินการทดสอบระบบ ERC Sandbox เพื่อยกระดับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer เริ่มทดสอบกับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย โดยจะทดสอบกับโครงการหมู่บ้านของ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทภาคธุรกิจ เริ่มทดสอบระบบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทชุมชนห่างไกล เริ่มทดสอบที่โรงเรียนศรีแสงธรรม คาดว่าจะสามารถส่งผลทดสอบให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ในช่วงไตรมาส 4/64 และคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 65
>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews