Phones





“กุลิศ”ชี้ แผนพลังงานใหม่ไร้โรงไฟฟ้าถ่านหิน

2020-12-14 17:09:42 709




นิวส์ คอนเน็คท์ - ก.พลังงานเร่งทำแผนพลังงานระยะยาวใหม่ ยันไม่มีบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปลดโรงไฟฟ้าเก่าเร็วขึ้น เล็งปรับสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% พร้อมประเมินความต้องการไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า 13 สาย คาดแผนแล้วเสร็จเม.ย.64


เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมเวิร์กช็อปเปิดโอกาส “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พร้อมด้วยแผนที่เกี่ยวข้องและให้นำแผนทั้งหมดที่เสนอไปรวมให้เป็นแผนเดียวกันนั้น วันนี้เป็นวันแรกที่กระทรวงพลังงานเริ่มดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thai Integrated Energy Blueprint (TEIB) ที่มีเป้าหมายจัดทำแผนระยะสั้น 5 ปี (2565-2570 ) ระยะปานกลาง 5-10 ปีและยาว 20 ปี


สำหรับแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ TEIB ที่จะจัดทำใหม่นั้น จะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และจะพิจารณาปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพเร็วขึ้นก่อนกำหนด ซึ่งจะมีส่วนการลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40% นอกจากนี้ แผน TEIB จะต้องพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของรถไฟฟ้าจำนวน 13 สายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้เนฐานของรัฐบาลด้วย รวมถึงต้องนำความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) ในอนาคตมาพยากรณ์ด้วย


สำหรับแผน TEIB นั้น คาดว่าจะดำเนินการจัดทำรายละเอียดแล้วเสร็จพร้อมจัดทำประชาพิจารณ์ต่อประชาชนได้ในเดือน มี.ค. 64 และคาดว่าจะจัดทำแผนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน เม.ย. 64 โดยแผนจะต้องนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ซึ่งไทยจำเป็นต้องปักหมุดว่าจะเป็นปีใดหลังจากสหรัฐฯ และยุโรปกำหนดไว้ปี 2050 (พ.ศ.2593) จีนปี 2060 เป็นต้น ขณะเดียวกัน แผนที่จัดทำจะต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573


“การจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณการครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำแผนแบบบูรณาการครบวงจรทั้งด้านก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานในลักษณะ Bottom Up เสนอจากผู้ปฏิบัติงานมาสู่ระดับนโยบาย ซึ่งจะได้นำผลจากการระดมความเห็นครั้งนี้มาร่วมกันกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป” นายกุลิศ กล่าว


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews