Phones





กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย0.50% หั่นเป้าจีดีพีเซ่นโควิดรอบ3

2021-06-23 17:44:24 309



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - กนง.ปรับลดเป้าจีดีพีของไทยปี 64 เหลือโต 1.8% จากเดิมคาดโต 3% รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ พร้อมมีมติคงดอกเบี้ย 0.5%
 
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เหลือโต 1.8% จากเดิมคาดโต 3% ขณะที่ปี 65 คาดโต 3.9% จากเดิมคาดโต 4.7% โดยกนง.มองว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง รวมทั้งในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากการระบาดระลอกใหม่
 
อย่างไรก็ตาม การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ที่ประชุม กนง.ยังมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ต่อปี และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด
 
ขณะที่การส่งออกในปี 64 คาดว่าจะขยายตัว 17.1% สูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดโต 10% และในปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 4.9% ส่วนการนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 22.7% จากเดิมคาด 15.2% และในปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 6.6% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้และปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.2% ส่วนปี 65 คาดอยู่ที่ 0.3% ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้คาดว่าจะขาดดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์ และปี 65 คาดว่าจะเกินดุล 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
 
ทั้งนี้ กนง.จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
 
อย่างไรก็ตาม กนง.เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
 
ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้