Phones





‘ttb’ แนะผู้ประกอบการและภาครัฐ บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

2021-07-02 15:36:41 404



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – ‘ttb’ ประเมินธุรกิจส่อแววโตช้า เหตุคลัสเตอร์แรงงานระบาดสูง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านกว่า 2.1 ล้านคน เร่งยับยั้งการระบาด พร้อมปรับแนวทางดูแล เพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
 
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยระลอกสาม พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสะสม 2.2 แสนคน และยังไม่มีทิศทางจะลดลงในช่วงเวลานี้ ttb analytics วิเคราะห์การแพร่ระบาดเจาะลึกไปยังกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ได้
 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีจำนวนแรงงานรวมกันกว่า 2.1 ล้านคน และอยู่ในภาคธุรกิจที่ไทยขาดแคลนแรงงาน โดยการวิเคราะห์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. แรงงานต่างด้าวในไทยที่อยู่ในภาคธุรกิจและพื้นที่ต่าง ๆ 2. สถานการณ์การติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในไทย และ3. ข้อเสนอแนะผู้ประกอบการและภาครัฐ
 
ทั้งนี้ ttb analytics ศึกษาโครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทย ณ เดือนพ.ค.64 พบว่าแรงงานในประเทศมีจำนวน 40 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานไทยจำนวน 37.7 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน (เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว) 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 91% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด เมื่อพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในไทย พบว่าภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงสุด คือ ภาคก่อสร้างและการผลิต มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 15% และ 10% ตามลำดับ โดยคิดเป็น 28% ของจีดีพี ในขณะที่ภาคการค้าและบริการ มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 5% และ 3% ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสาม นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 28 มิ.ย.64 พบว่าการติดเชื้อในประเทศสะสมรวมกว่า 2.2 แสนคน โดยจำนวนการติดเชื้อดังกล่าว เมื่อแยกเฉพาะแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน พบว่ามีการติดเชื้อสะสมกว่า 3.6 หมื่นคน หรือ คิดเป็น 16% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในไทย เมื่อพิจารณาแหล่งเกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน พบว่าส่วนใหญ่กว่า 36% ติดเชื้อจากสถานที่ทำงาน และ 25% จากพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด ชุมชนแรงงานต่างด้าวที่แออัด
 
โดยตัวเลขการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดระลอกสามช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา และเมื่อเจาะลึกเชิงพื้นที่ของการติดเชื้อพบว่าจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพชรบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร มียอดการติดเชื้อสะสมคิดเป็น 72% ของการติดเชื้อแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม แคมป์คนงานก่อสร้าง และในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านทำงานอยู่จำนวนมาก
 
สำหรับพื้นที่ที่มีการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงจะอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และเมื่อเทียบสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านต่อการติดเชื้อรวมในพื้นที่นั้น ๆ พบว่าพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อมาก ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี และนนทบุรี ซึ่งมีสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวต่อผู้ติดเชื้อในพื้นที่รวม เท่ากับ 60% 41% 37% 27% 17% และ 12% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากไม่เร่งยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะนำไปสู่การระบาดวงกว้างต่อแรงงานที่เหลือ รวมถึงในพื้นที่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวได้
 
โดยการจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิตและก่อสร้าง หากไม่บริหารจัดการยับยั้ง จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังแรงงานกลุ่มอื่น ๆ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานได้ นอกจากนี้ สายการผลิตในโรงงานและการก่อสร้างจะหยุดชะงัก ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ตามมาได้
 
ทั้งนี้ ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน สามารถควบคุมและพิจารณาจัดสรรวัคซีนได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรจัดการขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำเชื้อโรคเข้ามาแพร่กระจายในหมู่แรงงานต่างด้าวด้วยกัน รวมถึงพิจารณาแนวทางการควบคุมการระบาดในแรงงานต่างด้าว อาทิ 1) คัดกรองแรงงานแข็งแรงที่มีความจำเป็นในงานสำคัญออกจากที่พักไปอยู่สถานที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ 2) วางแนวทางมาตรฐานการเคลื่อนย้ายแรงงานจากที่พักอาศัยเดินทางไปปฏิบัติงานในโรงงานหรือแคมป์ก่อสร้าง โดยควบคุมไม่ให้ปะปนกับประชาชนทั่วไป 3) พิจารณาจัดสรรฉีดวัคซีนให้แรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีโอกาสติดเชื้อสูง 4) ตรวจหาเชื้อซ้ำในสถานประกอบการและชุมชนที่แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นประจำ เป็นต้น