Phones





KBANK กำไร 6 เดือนแรกทรุด

2019-07-28 22:46:59 196






นิวส์ คอนเน็คท์ – KBANK เสียงอ่อย หลังตัวเลขกำไรงวด Q2/62 และงวด 6 เดือนแรกปี 62 หดตัว รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง พร้อมแบกภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาด และตั้งสำรองเกษียณอายุของพนักงงาน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แนะจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/62 ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/62 ที่เศรษฐกิจที่ขยายตัว 2.8% เนื่องจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงรับแรงกดดันต่อเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนยังสามารถประคองทิศทางการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่คงต้องติดตามสถานการณ์หนี้ และการฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือน รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62


สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 มีกำไรสุทธิจำนวน 19,973 ล้านบาท ลดลง 7.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,960 ล้านบาท หรือ 6.16% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.30% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 5,475 ล้านบาท หรือ 17.46% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยและรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล


นอกจากนี้ ภายใต้การชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อรายได้ของธนาคาร ธนาคารจึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,087 ล้านบาท หรือ 3.33% แม้ว่าจะมีการตั้งสำรองเกษียณอายุของพนักงานเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ของพนักงานตามนโยบายการจ้างงานเฉพาะของธนาคารที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน มีผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.89%


ขณะที่ตัวเลขผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 9,929 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนจำนวน 115 ล้านบาท หรือ 1.15% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 518 ล้านบาท หรือ 2.05% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินลงทุน ทำให้ NIM อยู่ที่ระดับ 3.34%


นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 1,392 ล้านบาท หรือ 11.38% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุน รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,731 ล้านบาท หรือ 10.81% ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และการตั้งสำรองเกษียณอายุของพนักงาน