Phones





BAY ชี้ ยกระดับล็อคดาวน์เจ็บแต่อาจไม่จบ

2021-07-19 14:30:39 315



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองมาตรการล็อคดาวน์ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจฉุดความเชื่อมั่นค่าเงินบาท
 
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังซื้อขายในกรอบ 32.53-32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 เดือนครั้งใหม่ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ขณะที่ตลาดเพิ่มความระมัดระวังในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหลังสหรัฐฯรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.สูงเกินคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบเป็นรายปีเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี ที่ 5.4% อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯปรับตัวลดลงขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อสภาคองเกรสว่ายังไม่ใกล้ถึงเวลาสำหรับการลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเน้นย้ำว่าการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นหลังธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศจะยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตร ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 2,400 ล้านบาท และ 19,145 ล้านบาท ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ มองว่าตลาดการเงินโลกจะจับตาท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หลังการประชุมวันที่ 22 ก.ค.64 ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการดำเนินนโยบายซึ่งบ่งชี้ถึงความอดทนที่สูงขึ้นต่อภาวะเงินเฟ้อและอาจกดดันค่าเงินยูโรให้อ่อนลง ขณะที่อังกฤษยืนยันแผนยกเลิกมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.64 แม้ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะนี้
 
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมคาดว่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แนวทางการดำเนินนโยบายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจแตกต่างกันออกไปตามภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจและกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
 
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้นรวมถึงการยกระดับมาตรการควบคุมโรค และทิศทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงยังเป็นประเด็นหลักฉุดรั้งความเชื่อมั่นและค่าเงินบาท นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนมิ.ย.64 โดยคาดว่ายังสามารถขยายตัวได้ในอัตราค่อนข้างสูงตามภาวะอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากวิกฤติ COVID-19 ในประเทศที่เข้าสู่กรณีเลวร้ายที่สุดส่งผลให้วิจัยกรุงศรีปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นเติบโต 1.2% จากเดิม 2.0%