Phones





BAY บุ๊กรายการพิเศษ ‘เงินติดล้อ’ หนุนกำไรปี 64 โตแรง 46%

2022-01-20 19:08:19 301



  
นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY รายงานผลการดำเนินปี 64 มีกำไรสุทธิ 33,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7% รับปัจจัยบวกจากการบันทึกกำไรพิเศษในการขายหุ้น “เงินติดล้อ” ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อปี 64 ขยายตัว 3.1% หลังสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอียังเติบโตต่อเนื่อง
 
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ผลประกอบการของธนาคารงวดปี 64 มีกำไรสุทธิ 33,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7% จากปี 63 โดยมีปัจจัยหนุนจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ในช่วงไตรมาส 2/64 ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว จะมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติอยู่ที่จำนวน 25,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% จากปี 2563
 
ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อปี 64 เติบโต 3.1% หรือจำนวน 57,411 ล้านบาท จากเดือนธ.ค.63 โดยเป็นการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งขยายตัว 6.6% และ 3.9% ตามลำดับ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จากการออกมาตรการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในปี 64 อยู่ที่ 3.24% ลดลงจาก 3.47% ในปี 63
 
สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.20% ณ สิ้นเดือนธ.ค.64 เทียบกับ 2.00% ณ สิ้นเดือนธ.ค.63 ซึ่งธนาคารยังคงรักษาระดับการตั้งเงินสำรองอย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมที่ระดับ 1.67% (Credit Cost) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกที่ 184.2% จาก 175.1% ณ สิ้นเดือนธ.ค.63 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 18.53% เพิ่มขึ้นจาก 17.92% ณ สิ้นเดือนธ.ค.63
 
“ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการดำเนินงานในสถานการณ์วิกฤต กรุงศรีในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบยังคงมีความมุ่งมั่นในพันธกิจการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายสองประการในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการ/โครงการช่วยเหลือลูกค้าในระยะสั้น พร้อมอำนวยสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในระยะยาว” นายเซอิจิโระ กล่าว
 
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลายระลอกในระหว่างปีที่ผ่านมา และมาตรการควบคุมโรคที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจชะลอตัวลง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดความล่าช้า โดยธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัว 1.2% และจะขยายตัว 3.7% ในปี 65
 
อย่างไรก็ตาม กรุงศรีในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบของประเทศ จะยังคงทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าโดยเฉพาะด้านสภาพคล่องต่อภาคธุรกิจ SME และภาคครัวเรือน รวมถึง การอำนวยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน