Phones





KBANKอัดฉีดสินเชื่อหนุนติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์

2022-05-18 20:39:53 2518



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – KBANK จับมือ หัวเว่ย ร่วมสนับสนุน Green ecosystem แบบครบวงจร ทั้งผู้รับเหมาติดตั้ง เจ้าของบ้าน และเจ้าของธุรกิจ ด้วยสินเชื่อสีเขียว หวังให้มีบ้านติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ 30,000 หลังคาเรือน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 265,000 ตัน ภายใน 1 ปี พร้อมเพิ่มวงเงินสินเชื่อเป็น 5 พันล้านบาท หนุนโครงการ GO GREEN Together
 
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารเปิดโครงการ GO GREEN Together ไปเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและหลังคาโซลาร์เซลล์ ทำให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยในปี 65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลาดหลังคาโซลาร์เซลล์ภาคธุรกิจ มีการติดตั้งเพิ่มขึ้น 125.9 เมกะวัตต์ เติบโต 54.2% จากปีก่อน รวมถึงในภาคครัวเรือนก็เติบโตขึ้นจากโครงการบ้านใหม่ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และผู้บริโภคก็ให้ความสนใจมากขึ้น จากกระแสรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มของค่าไฟที่สูงขึ้น
 
ขณะที่ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมมือกับหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดดิจิทัลพาวเวอร์ และมีเครือข่ายผู้ติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง โดยจะร่วมกันสนับสนุน Green ecosystem ที่จะส่งมอบทั้งด้านการเงินและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้แก่ผู้ใช้งานครบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ผู้รับเหมาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เจ้าของบ้าน และเจ้าของธุรกิจ เพื่อชวนให้ทุกคนมาร่วมกันรักษ์โลกและได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟฟ้า โดยบ้านหนึ่งหลังจะลดค่าไฟได้ประมาณ 36,500 บาทต่อปี เมื่อติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ 5 kW 
 
โดยความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารคาดหวังว่าจะช่วยให้มีบ้านติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ 30,000 หลังใน 1 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 265,000 ตัน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 33 ล้านต้น
 
ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการขยายวงเงินสินเชื่อที่จะใช้สนับสนุนโครงการ GO GREEN Together เป็นจำนวน 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งวงเงินไว้ที่ 3,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่เป็นภาคธุรกิจไปแล้วราว 900 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ในระดับแสนล้านบาท ในช่วงระยะ 10 ปีข้างหน้า และจะมีการขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆเพิ่มเติมในอนาคต
 
ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการผสมผสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย ในการส่งเสริมสร้างสังคมสีเขียวในประเทศไทย ด้วยจุดแข็งของหัวเว่ยในด้านการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะพลังงานดิจิทัล บวกกับความเป็นผู้นำด้านการเงินของธนาคารกสิกรไทย จะช่วยส่งมอบโซลูชันทางการเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โดยจะกระตุ้นตลาดโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่สนใจการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในภาคครัวเรือนด้วยข้อเสนอหรือการผ่อนชำระพิเศษของธนาคารกสิกรไทย
 
 นอกจากนั้น หัวเว่ยยินดีที่จะร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในโครงการอื่นๆ สำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เพื่อสร้างกรณีตัวอย่างให้มากขึ้นในตลาด โดยหัวเว่ยจะผลักดันให้ผู้ติดตั้งระบบทั่วประเทศร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยและศูนย์การค้าต่างๆ ในการจัดงานโรดโชว์เพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องโซลูชันโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ในภาคครัวเรือนของหัวเว่ย และโครงการ “GO GREEN Together” ของธนาคารกสิกรไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังร่วมกับพาร์ทเนอร์รายต่างๆ เพื่อส่งมอบการฝึกอบรมทางเทคโนโลยีทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ในทุกสัปดาห์ ช่วยให้วิศวกรไฟฟ้าสามารถเรียนรู้ทักษะด้านการดีไซน์ การติดตั้ง และการบำรุงรักษาจนเกิดความเชี่ยวชาญ ช่วยให้ได้รับโอกาสหน้าที่การงานใหม่ๆ
 
โดยปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่หันมาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเทรนด์ตลาดบ่งชี้ว่าน่าจะมีการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์มากถึง 80,000 ครัวเรือนภายในปี 65 เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟ ทั้งนี้อัตราเฉลี่ยของระยะเวลาการคืนทุน (Payback Period) ในการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 5 ปี โดยเจ้าของบ้านที่ติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ยังสามารถเลือกข้อเสนอพิเศษจากธนาคารกสิกรไทยที่ผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 30 ปี ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในบ้านลงไปได้เป็นอย่างมากแล้ว ผู้ติดตั้งยังจะได้รับโซลูชันอินเวอร์เตอร์ที่มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความเสถียรจากหัวเว่ย และสามารถดูข้อมูลกระแสไฟฟ้าผ่านมือถือได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องการพัฒนาคาร์บอนต่ำในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
 
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อลดอัตราการปล่อยคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการแบบ E2E ลงกว่า 80% เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มีประสิทธิภาพเท่ากัน และยังมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 2.7 เท่า โดยหัวเว่ยได้ผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพัฒนาบริการเชิงนวัตกรรมด้านดิจิทัลพาวเวอร์ ทำให้สามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งในปี 64 ที่ผ่านมา ช่วยให้ลูกค้าทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ถึง 230 ล้านตัน