Phones





คปภ.คาดปี 68 'เบี้ยประกันภัย' แตะ 9.8 แสนล้าน

2024-11-22 16:38:58 45



นิวส์ คอนเน็คท์ - เลขาธิการ คปภ. เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยเต็มสูบ คาดปี 2568 เบี้ยประกันภัยวิ่งแตะ 9.8 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ในปี 2569
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประกันภัยสู่ประชาชน “CEO X PRESS” ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชน ณ ห้อง ThreeSixty Jazz Lounge ชั้น 32 โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ 

นายชูฉัตร เปิดเผยว่า ในปี 2568 สำนักงาน คปภ. ประมาณการว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัย (ม.ค.-ธ.ค.2568) จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 980,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าในปี 2569 เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งระบบ น่าจะแตะที่ 1,000,000 ล้านบาท โดยในภาพรวมธุรกิจ ประกันภัยสุขภาพมีความโดดเด่นที่สุด สำนักงาน คปภ. ประมาณการณ์ว่าสิ้นปี 2567 ประกันภัยสุขภาพจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ 100,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจประกันภัยยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายและปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้น แต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท รวมทั้งสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและอำนาจซื้อของประชาชน ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยภาคธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันภัยไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที 
 
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 นี้ สะท้อนให้เห็นงบการเงินที่แท้จริงว่า บริษัทประกันภัยมีกำไรในแต่ละปีมากน้อยเพียงใด มีการกระจายรายได้ และค่าใช้จ่ายออกไปอย่างไร มีการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นภาพงบการเงินได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. มองว่าเรื่องความมั่นคงกับงบการเงินที่ได้มาตรฐานต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน
 
อีกประเด็นที่อยู่ในกระแสข่าวและสื่อมวลชนเกี่ยวกับการยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในกรณีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่สิ้นสุดการยื่นคำทวงหนี้ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 พบว่า มีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องเข้ามาประมาณ 250,000 ราย และมีมูลหนี้ที่ต้องชำระประมาณ 22,000 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีรายได้จากเงินสมทบปีละประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด โดยกองทุนฯ ได้พยายามหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เช่น การกู้ยืมเงิน และอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการการชำระหนี้ของกองทุนฯ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ประเด็นถัดมาที่อยากจะสื่อสารกับสื่อมวลชนไปยังสาธารณชนคือ ทิศทางการทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่บริษัทประกันภัยจะยื่นขออนุมัติกรมธรรม์แต่ละฉบับ ซึ่งสำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะอนุมัติให้โดยเร็ว แต่บริษัทประกันภัยที่ยื่นขออนุมัติต้องมีการดำเนินการควบคุมความเสี่ยงเพื่อให้สำนักงาน คปภ. มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการ ตั้งแต่กระบวนการการเสนอขาย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การบริหารความเสี่ยง และการจัดการเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการบริหารจัดการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า

ประเด็นต่อมา คือ กรณีบริษัทหรือตัวแทนนายหน้าขายประกันภัยต่างชาติ ที่มีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งบริษัทต่างชาติเหล่านี้ ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้านประกันภัยจากบริษัทเหล่านี้ ทางสำนักงาน คปภ. ก็มีมาตรการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจกองปราบปรามไปหลายคดีแล้ว ดังนั้น จึงอยากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยจากบริษัทหรือตัวแทนนายหน้าขายประกันภัยต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

ประเด็นสุดท้าย การประกันภัยสุขภาพ ซึ่งในขณะนี้เบี้ยประกันภัยสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการประกันภัยสุขภาพได้ยาก สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือเร่งด่วนกับภาคธุรกิจเพื่อหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม และต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้เอาประกันภัย โดยอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) หากผู้เอาประกันภัยมีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีการเคลมด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย แต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ 200% ของเบี้ยประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพได้อย่างแท้จริงภายใต้เบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมและเหมาะสม