Phones





AIS เดินเครื่องภารกิจ “5G สู้ภัยโควิด-19”

2020-04-29 18:29:29 7763




นิวส์ คอนเน็คท์ - AIS แจ้งเกิด 5G เพื่อการแพทย์ ช่วยคนไทย ก้าวผ่านวิกฤต CEO สั่งลุย! เดินเครื่อง ภารกิจ “5G สู้ภัยโควิด-19” แบบไม่ถอย ผนึก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชู รพ. จุฬาภรณ์ เป็นต้นแบบแห่งการรักษาพยาบาล ช่วยลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนไทย เข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบเท่าเทียม


เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า จากวันที่เอไอเอสได้ประกาศวิสัยทัศน์ในฐานะผู้นำดิจิทัลไลฟ์เพื่อคนไทย ในการเดินหน้าภารกิจเร่งด่วนนำเครือข่าย 5G ที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือคนไทย และ ประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เราได้ทยอยส่งมอบความช่วยเหลือถึงมือทีมแพทย์และพยาบาลผู้เป็นด่านหน้าในการรับมือวิกฤตนี้มาอย่างต่อเนื่อง



ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ซึ่งส่งมอบไปแล้ว จำนวน 18 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 17 แห่ง ขณะนี้ กำลังเร่งพัฒนาและส่งมอบให้ครบทั้งหมดจำนวน 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่การแบ่งเบาภาระ ลดเสี่ยง ลดสัมผัส ลดโอกาสติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังทำให้คนไทยได้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากช่วยลดข้อจำกัด และสร้างความเท่าเทียมในการรับบริการด้านสาธารณสุขของคนไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน


"วันนี้ ถือเป็น Big Move อีกก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของการนำ 5G ช่วยเหลือและสนับสนุนการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบไปอีกขั้น โดยเอไอเอสรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เราได้มีโอกาสนำเทคโนโลยี 5G มาร่วมยกระดับศักยภาพการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ หรือ 5G Total Telemedicine Solutions ในหลากหลายมิติ ให้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่การนำ 5G เข้ามาผสมผสานเพิ่มขีดความสามารถให้กับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยตรง เพื่อทำให้อุปกรณ์ทางแพทย์สามารถทำงานและแสดงผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น"



ครั้งนี้ ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผล AI บนเครือข่าย 5G สำหรับเครื่อง CT Scan ปอด เครื่องแรกของไทยอีกด้วย เพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้นหลายเท่าตัว, การมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่าง เพื่อเซฟทั้งทีมแพทย์และผู้ป่วยให้ปลอดความเสี่ยงโควิด-19 ตลอดจน การนำแอปฯ เกี่ยวกับบริการพบแพทย์ออนไลน์ เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาแพทย์ผ่านทางไกลจากที่บ้าน โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ช่วยในการคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเบาภาระให้กับทีมแพทย์ รวมถึงเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งยังได้นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย



ทั้งหมดนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นโมเดลต้นแบบของการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5G และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดวิจัยและพัฒนาในอนาคต เตรียมความพร้อมสู่ New Normal วงการแพทย์ไทยหลังยุคโควิด-19 ซึ่งเราก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายและส่งต่อองค์ความรู้เทคโนโลยี 5G เพื่อการแพทย์สู่สังคมไทย



ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรชั้นสูง ทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การสาธารณสุข และให้บริการทางการแพทย์ ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกระดับชั้นให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน



ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เองก็ได้มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบต่างๆ มาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสงสัยติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังสามารถพบแพทย์อยู่ที่บ้านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในช่วงนี้ ตามมาตรการให้การ “รักษาแบบมีระยะห่าง” ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย ตลอดจนลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการเผชิญหน้าของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ทุกส่วนงาน


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews