Phones





CIMBT ชี้โควิดระบาดรอบสามฉุดศก.แผ่วชั่วคราว

2021-04-08 17:22:04 491




นิวส์ คอนเน็คท์ – CIMBT ประเมินสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ฉุดบรรยากาศการใช้จ่าย แต่มองภาครัฐจะไม่ใช้มาตรการรุนแรงในการควบคุมการแพร่ระบาด


เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินสถานการณ์ในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ว่า จะพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอีกระลอกในหลากหลายคลัสเตอร์ ซึ่งกำลังมีความเป็นไปได้สูงที่ทางภาครัฐจะประกาศการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3


ทั้งนี้ ภาพบรรยากาศทางเศรษฐกิจตอนช่วงก่อนสงกรานต์นี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากช่วงสัปดาห์ก่อน โดยช่วงปลายเดือนมี.ค. 64 เริ่มเห็นกำลังซื้อในประเทศคึกคักขึ้น และโดยปกติในเทศกาลสงกรานต์ ร้านค้าจะตุนสต๊อกสินค้า ยอดขายกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆจะขยับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า กลุ่มโรงแรม ร้านอาหารจะได้อานิสงส์จากการเดินทางในประเทศ แม้ในอดีตกลุ่มโรงแรมจะมองเป็นช่วงโลว์ซีซันเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมาน้อย แต่ก็พอประคองได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศ


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นภาพคล้ายกันว่าอาจกำลังเผชิญภาพคริสต์มาสเมื่อปลายปี 63 ในเดือนเม.ย.นี้อีกรอบ และหากเกิดการระบาดที่มากขึ้น รัฐจะเลือกใช้การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนคล้ายกับที่ใช้ในช่วงปลายปี เช่น ปรับเวลาการปิดร้านอาหารให้เร็วขึ้น ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ปิดสถานที่บริการที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น ฟิตเนสและร้านนวด ซึ่งไม่ใช่มาตรการที่เข้มงวดมากและไม่น่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเทียบกับช่วงการระบาดในรอบแรก


ขณะที่บริษัทและธุรกิจต่างๆ น่าจะเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่ทำงานที่บ้านมากขึ้นเพื่อลดความแออัดของพื้นที่ และโดยรวมอาจส่งผลต่อธุรกิจในกลุ่ม อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การขนส่ง ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่กำลังรอต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงวันหยุดยาวก็กำลังลุ้นว่าจะมีใครยกเลิกการจองห้องพักมากน้อยเพียงไร ช่วงก่อนสงกรานต์นี้หากยังไม่มีมาตรการใดออกมา อาจเห็นธุรกิจเร่งระบายสต๊อกสินค้าด้วยการลดราคาสินค้าและบริการ เพราะเกรงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยิ่งเพิ่มขึ้นหลังผู้คนกลับมาจากท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ ในช่วงความกังวลเหล่านี้


ทั้งนี้ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเดือนเม.ย. 64 และอาจมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนจริงจนส่งผลให้การใช้จ่ายของคนไทยลดลงในเดือนนี้ แต่หากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ผมขอมองต่อไปว่า แม้จะสิ้นสุดรอบ 3 นี้ การบริโภคก็ยังเสี่ยงโตช้าด้วยปัจจัยอื่น


อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นขึ้น แต่มองว่าการใช้จ่ายจะยังไม่เร่งแรง และอาจต้องระวังความเสี่ยงที่การบริโภคจะโตช้ากว่าในช่วงก่อนโควิด แต่หากพิจารณาในช่วงก่อนโควิดในหลายปี การบริโภคภาคเอกชนก็เติบโตต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพี จึงแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตจากภายนอกมากกว่าภายใน และปีนี้ก็เช่นกัน หากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละสำนัก ก็จะเห็นภาพคล้ายคลึงกัน นั่นคือการบริโภคเอกชนโตต่ำกว่า 3%


ขณะที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนผ่านการส่งออกสินค้าที่มองว่าอาจโตได้มากกว่า 10% และยังไม่นับการกระจายตัวของเศรษฐกิจอีกที่ดีเพียงด้านกลาง-บน ซึ่งต่อให้ไม่มีรอบ 3 นี้ การบริโภคก็เสี่ยงโตช้าด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ ขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ขาดการลงทุน, ขาดความเชื่อมั่น และขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย


“การระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือนเมษายนในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้” ดร.อมรเทพ จาวะลา กล่าว


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews