Phones





GPSCได้จังหวะจับมือปตท.ศึกษานำเข้าLNG

2020-06-10 09:20:33 601




นิวส์ คอนเน็คท์ – GPSC ได้จังหวะ ผนึก ปตท. ศึกษานำเข้า LNG หวังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า สร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คาดมีความชัดเจนไตรมาส 3 นี้ เล็งชิงโควต้าโรงไฟฟ้าชุมชน


เมื่อเร็วๆ นี้ นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ จะเป็นจังหวะที่ดีในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ของบริษัทที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ ขณะที่ GPSC อยู่ระหว่างร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน GPSC และผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งวงจร (Value Chain) ศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินธุรกิจ LNG และเปิดโอกาสให้ GPSC ยื่นขอรับใบอนุญาต Shipper ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3/63 ซึ่งต้องรอดูนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติและการปรับสูตรราคาก๊าซฯ ของกระทรวงพลังงาน และ กกพ.ให้ชัดเจนก่อน ถึงจะตัดสินใจได้


อย่างไรก็ตาม การจัดหาก๊าซฯ ได้ในราคาที่ถูก จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นในเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และยังสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้กับกลุ่มบริษัท โดยก่อนหน้านั้น มีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF


"GPSC อยู่ระหว่างร่วมกับ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีจุดแข็งเป็นผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว และ handle ในปริมาณที่มากที่สุดตอนนี้ ขณะที่ GPSC ก็เป็นอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ก็มาดูร่วมกันว่าจะบูรณาการร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย สร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด" นายชวลิต กล่าว


ปัจจุบัน บริษัทใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นปริมาณราว 2 ล้านตันต่อปี และปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ที่ใกล้จะหมดอายุ (SPP Replacement) อีก 7 สัญญา กำลังผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 65 โดยทั้ง 7 สัญญาจะต้องจัดหาเชื้อเพลิงใหม่ โดยในส่วนนี้มี 6 สัญญาใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ส่วนอีก 1 สัญญาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็ก โดยการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า SPP Replacement นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับบริษัทด้วย


นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับ ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กระทรวงพลังงานมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว โดยเบื้องต้น ปตท.ให้ความสนใจโครงการตามแนวท่อก๊าซฯ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสนใจเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews