Phones





"รุ่ง-วิทัย" ใครจะเข้าวิน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

2025-07-12 19:07:58 50



แม้จะเหลือเพียง 2 คู่แข่ง ระหว่าง "ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กับ "วิทัย รัตนากร" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในการชิงเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย "คนใหม่" แต่ทว่า การแข่งขัน การต่อสู้ หนักหน่วง ไม่แพ้มีตัวชิงหลายราย

เป็นธรรมดาของการแข่งขัน ไม่ว่ากีฬาชนิดใด ตำแหน่งใดก็ตาม ย่อมจะมีทั้ง "วิชามาร" และ "วิชาเทพ" ขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ลงแข่งขันเอง และบรรดากองเชียร์ กองแช่ง ทั้งหลาย... การแข่งขันเพื่อครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติครานี้ ก็เช่นกัน

การชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเที่ยวนี้ มีผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ ทั้งหมด 6 ราย คณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มี นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการ ได้พิจารณาสรุปบุคคลที่สมควรได้รับเสนอชื่อเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จำนวน 2 รายชื่อ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา ก่อนเสนอ ครม. ซึ่งมีรายงานระบุว่า แคนดิเดต 2 ราย ได้แก้ "ดรรุ่ง" และ "วิทัย"

จะว่าไปแล้ว แบงก์ชาติ ห่างหายจาก "ผู้ว่าฯ คนใน" เป็นเวลานาน จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงเชียร์" ดร.รุ่ง" ให้เข้าวิน แต่ต้องไม่ลืมว่า "คนนอก" อย่าง "วิทัย" นั้นไม่ธรรมดา ถึงจะถูกมองว่าเป็นคนนอก แต่ถือว่าเป็นคนในแวด-วง "การเงิน" ตัวกลั่นเช่นกัน

สำหรับ "ดร.รุ่ง" จบ ปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT), ปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Harvard University ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน เป็น รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย , กรรมการในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) , กรรมการในคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) , กรรมการในคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) , เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ใน ธปท. เช่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 

ขณะที่ "วิทัย" เป็นลูกชาย "ศิริลักษณ์ รัตนากร" อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2525–2528 กับ "โสภณ รัตนากร" อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนประวัติการศึกษา "วิทัย" มีดีกรีปริญญาตรี 1 ใบ และปริญญาโทถึง 3 ใบ ได้แก่ ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ปริญญาโท กฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโท การเงิน Drexel University, U.S.A.

นอกจากตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แล้ว "วิทัย" ยังเป็นนายกสมาคม สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , ประธานกรรมการ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ , อุปนายกสมาคม สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ , รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) , กรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , กรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด , กรรมการฝ่ายนายจ้าง กรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง อีกด้วย

แน่นอนว่า แบงก์ชาติ ถูกจัดให้เป็น "องค์กรอิสระ ปลอดการเมืองแทรกแซง" แต่ต้องไม่ลืมว่า นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง จะต้องทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน เพื่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย และความ "อยู่ดี กินดี" ของประชาชนคนไทย จึงไม่แปลก พลันที่มีชื่อ "วิทัย" เป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนใหม่ โฟกัสจึงเพ่งเล็งไปที่ "วิทัย"

จริงอยู่ "วิทัย" เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นธนาคารของรัฐ ทำงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง แต่ในช่วง 5 ปีกว่าที่ "วิทัย" นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน "วิทัย" เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ทำงานภายใต้ "ใบสั่ง" จากฝ่ายการเมือง 

การพลิกบทบาทของธนาคารออมสิน เป็น "ธนาคารเพื่อสังคม" ย่อมเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ปี 2563 "วิทัย" ได้ริเริ่มปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ พลิกบทบาทธนาคารมาเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” และขับเคลื่อนภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน 2. การแก้ไขปัญหาหนี้สิน 3. บทบาทงานพัฒนาสังคมและชุมชน และ 4. การสนับสนุนนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันถือเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐตามกฎหมาย 

ที่ผ่านมา ธนาคารได้สร้าง Social Impact เกิดผลกระทบเชิงบวก สามารถช่วยเหลือคนไทยจำนวนกว่า 13 ล้านคน จากจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 18.8 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท โดยหลังจากนี้ธนาคารตั้งเป้าสร้าง Social Impact ให้ได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านรายต่อปี และแม้ธนาคารได้ปรับยุทธศาสตร์เป็นธนาคารเพื่อสังคม ช่วยคนฐานรากได้มากขึ้น แต่สถานะทางการเงินยังเติบโตแข็งแกร่ง ไม่เกิดความเสียหายแก่องค์กร โดยธนาคารออมสินยังสามารถนำส่งเงินกำไรให้เป็นงบประมาณกับรัฐบาล ได้มากกว่า 96,000 ล้านบาท ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินให้รัฐสูงสุดหนึ่งในสามลำดับแรก
 
ต้องจับตาว่า ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 15 ก.ค. 68 นี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอชื่อใคร เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนใหม่ ระหว่าง "ดร.รุ่ง" กับ "วิทัย"