Phones





โอกาสธุรกิจไทย เข้าตลาดหุ้นต่างประเทศ

2019-09-22 17:20:27 2205




ปัจจุบัน การสร้างการเติบโตของธุรกิจต่างๆ มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นการหาพันธมิตร การลงทุนในธุรกิจหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการบริหารงานมากขึ้น รวมถึงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเข้าหาแหล่งเงินทุนจากสาธารณะ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจ สนใจในการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวมากยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ดี การระดมทุนดังกล่าว มีกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวดเช่นกัน ทำให้บางธุรกิจไม่สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดได้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีช่องทางการระดมทุนข้ามประเทศที่เปิดโอกาสให้บริษัทขยายการเติบโตมากยิ่งขึ้น

ซึ่ง "ดร.​ วรวุฒิ คงศิลป์" หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้บริหารร่วมอาวุโส บริษัท Winton Associates จำกัด (ลอนดอน, อังกฤษ) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการระดมทุนระหว่างประเทศ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ผ่านสถาบันการเงินและกองทุนชั้นนำระดับนานาชาติ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์นานาชาติชั้นนำของโลก เผยว่า ปัจจุบันการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เป็นโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง


รวมถึงขั้นตอนในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติชั้นนำในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดที่มีการเติบโตสูง​ (Growth market) ใช้เวลาดำเนินการราว 8-9 เดือน (Catalist)ในเอเชีย แปซิฟิค และบางประเทศที่​ตลาดนานาชาติในยุโรป (AIM) ใช้เวลาประมาณ​ 4-6 เดือน​โดย​ไม่ต้องดำเนินการการยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)โดยตรงอย่างในประเทศไทย ซึ่งผ่านเพียงตัวแทนหรือ FA (Financial​ Advisor and Regulator) ที่​ได้รับการแต่งตั้ง​จาก​ กลต.หรือ​ ตลาดหลักทรัพย์แทน (Sponsor or Nominated Advisor) เพียงที่เดียวเพื่อตรวจสอบ ซึ่งหากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยทุกขั้นตอน ก็สามารถเข้าระดมทุนในตลาดได้ทันที


 


"การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติในต่างประเทศนั้น มีวัตถุประส่งเพื่อสร้างการเติบโตจากธุรกิจ โดยเป็นการเติบโตจากทุน จากการเข้าหาแหล่งเงินทุนในส่วนทุน (IPO) โดยไม่เป็นส่วนหนี้ ซึ่งบริษัทได้มองหาธุรกิจที่มีความต้องการในตลาดหลักๆ อาทิ ธุรกิจการแพทย์ เฮลท์แคร์ อาหารเสริม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ อสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติในต่างประเทศ ปัจจุบัน มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นจดทะเบียนอยู่ในมือราว 2-3 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน อีกทั้งคาดว่าช่วงสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มขึ้นราว 6-7 บริษัท" ดร.วรวุฒิ ระบุ


สำหรับผลกระทบในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสงครามทางการค้า เป็นผลกระทบที่มีผลต่อธุรกิจทั่วโลก ซึ่งมองว่าปัจจัยที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ ปัจจัยทางทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเติบโตนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของธุรกิจ และสภาพคล่อง ที่เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของธุรกิจมากกว่า


การจดทะเบียนในตลาดหุ้นนานาชาติต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งโอกาสของบริษัทที่เติบโตแต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนได้มากพอ