Phones





MAKROเปิดราคาเสนอขายหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น

2021-12-03 18:18:32 463



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - MAKRO เปิดราคาเสนอขายหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อวันที่ 4-9 ธ.ค.นี้ โดยการจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First
 
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น Public Offering (PO) ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เปิดเผยว่า ปัจจุบันแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ได้รับการอนุมัติและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว
 
โดยการเสนอขายหุ้น PO ครั้งนี้มีจำนวนไม่เกิน 1,300 ล้านหุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 910 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPH และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด หรือ CPM จำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 390 ล้านหุ้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment shares หรือ กรีนชู) จำนวนไม่เกิน 130 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายแก่ประชาชนครั้งนี้ โดย MAKRO จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจในไทยและต่างประเทศ ชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินบางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
 
ล่าสุด MAKRO กำหนดราคาเสนอขายของหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 62,205 ล้านบาท (รวมมูลค่าของหุ้นส่วนเกิน) โดยเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิ และนักลงทุนรายย่อย ได้จองซื้อระหว่างวันที่ 4 – 9 ธ.ค.นี้
 
ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายครั้งนี้ไม่เกิน 1,300 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 130 ล้านหุ้น ซึ่งทางบริษัทฯ พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม เนื่องจากหลังสิ้นสุดการเสนอขายหุ้น PO จะมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เกินกว่า 15% ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผลกระทบต่อสัดส่วนการถือครองหุ้น (Control Dilution) ของผู้ถือหุ้นเดิม และอัตรากำไรสิทธิต่อหุ้นของ MAKRO (EPS Dilution)น้อยกว่ากรณีที่มี Free Float เป็นจำนวนมากกว่านี้
 
ขณะที่การเสนอขายหุ้น PO ดังกล่าว ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันชั้นนำ จำนวน 14 ราย ที่ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้นประมาณ 423 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,400 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 32.5 ของจำนวนหุ้น PO ที่เสนอขายครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความมั่นใจของกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มีต่อ บมจ.สยามแม็คโคร ที่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจค้าส่ง B2B และค้าปลีก B2C และมั่นใจว่าการเสนอขายในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิและนักลงทุนรายย่อยเช่นกัน
 
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ MAKRO สามารถจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking และแอปพลิเคชัน SCB Easy โดยสามารถจองซื้อตามสิทธิที่ได้รับจัดสรร เกินกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรร (ไม่กำหนดจำนวนจองซื้อสูงสุด) หรือน้อยกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรรก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้จองซื้อได้รับการจัดสรรไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ จะมีการคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อที่ได้รับจัดสรรไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ
 
ทั้งนี้ MAKRO ได้กำหนดอัตราส่วนการใช้สิทธิ (Ratio) จองซื้อหุ้นสามัญของ MAKRO ดังนี้ (1) ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO ในอัตราส่วน 10 หุ้นสามัญของ MAKRO ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย (2) ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPALL ในอัตราส่วน 15 หุ้นสามัญของ CPALL ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย และ (3) ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPF ในอัตราส่วน 70 หุ้นสามัญของ CPF ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย
 
สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญดังกล่าวแก่ผู้จองซื้อรายย่อย จะจัดสรรหุ้นด้วยวิธี Small Lot First ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด (SETTRADE) โดยจองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น (Selling Agents) 3 ราย ได้แก่ (1) แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking (2) แอปพลิเคชัน SCB Easy และ (3) แอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet โดยบริษัทหลักทรัพย์เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน)
 
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO กล่าวว่า  แม็คโครและกลุ่มโลตัสส์ได้วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียด้านแพลตฟอร์มที่ผสานทุกช่องทางทั้งการค้าส่งแบบ B2B และค้าปลีกแบบ B2C โดยการใช้ศักยภาพจากฐานธุรกิจในประเทศไทย สู่การขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคอาเซียน โดยจะพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ที่เป็นการผสมผสานระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ หรือ O2O เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
 
ทั้งนี้ บริษัท จะให้การสนับสนุน SMEs และผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทย ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าไทยสู่ผู้บริโภคในระดับภูมิภาคและสร้างการยอมรับในมาตรฐานสินค้าไทยสู่ระดับสากล ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี และสนับสนุน SMEs ยกระดับธุรกิจให้ทันสมัยยิ่งขึ้นโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ และมุ่งพัฒนาระบบนิเวศออนไลน์ (Online ecosystems) ของการค้าปลีกรูปแบบใหม่ โดยให้บริการแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Marketplace) แบบ B2B นอกจากนี้มีแผนลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick.com แอปพลิเคชัน Makro Application และ Makro Line Official Account