โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นับว่าเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ร่วมลงทุนกับเอกชนมูลค่าเงินลงทุนรวม 224,544 ล้านบาท ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ได้มีการลงนามเซ็นสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างกลุ่ม CP กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังจากทราบผลผู้ชนะตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2561 ... การลงนามครั้งนี้ เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทยก็ว่าได้
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือที่เรียกกันสั้นว่า "ไฮสปีดเทรน" เริ่มมีแผนว่าจะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ยุคปลายๆ ของรัฐบาล คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมาประสบความสำเร็จในการลงนามเซ็นสัญญาในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์2 ท่ามกลางหลายฝ่ายที่จับตามองหลังจากใช้ระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขสัญญาและการเจรจามาอย่างยาวนานกว่า 9 เดือน นับจากที่ประกาศผลเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 119,425 ล้านบาท กลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาทส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา ขณะที่วงเงินลงทุนในส่วนของภาคเอกชนอยู่ที่ 107,318 ล้านบาทไม่รวมค่าเวนคืนที่ดินและการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ โดยกลุ่ม CPH ตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2566 และคาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาทยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับกลุ่ม CP ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 70% China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือหุ้น 10% บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM และบมจ. ช.การช่าง หรือ CK ถือหุ้น 15% บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ถือหุ้น 5% จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.
"ศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้น ITD กับ CK จะเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างแต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะแบ่งกันในสัดส่วนเท่าไหร่ อย่างไร ส่วนบริษัท Ferrovie dello Stato italiane (FS) จากประเทศอิตาลีจะเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟความเร็วสูง ร่วมกับ BEM ขณะที่ CRCC ทำหน้าที่จัดหารเทคโนโลยีระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ด้าน CP เป็นผู้บริหารพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ TOD ตลอดแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะที่สถานีมักกะสันและศรีราชา ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกำไร
ในเบื้องต้น มีแผนจะพัฒนาสถานีมักกะสันพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้าน โดยจะมาจากเงินกู้และระดมทุนจากพันธมิตร เพราะแบ่งเป็นโซนนิ่ง มีพาร์ทเนอร์ลงทุนแต่ละโซน โดยภายหลังจากพัฒนาแล้วเสร็จ 6 ปีจะพิจารณานำ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนต่อไป เพื่อนำเงินลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะได้ลงทุนตลอดแนวเส้นทางรถไฟซึ่งมูลค่าเท่าไหร่ยังไม่ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า
ด้าน "วรวุฒิ มาลา" รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ภายหลังจากการลงนามต้องเจรจากับผู้ออกแบบอีกทีเพื่อสรุปแบบก่อสร้างและแนวเส้นทางเดินรถไฟว่าจะต้องมีการเวนคืนที่ดินอย่างไร และจะต้องดูว่าช่วงไหนมีความยากง่ายในการก่อสร้างอย่างไร โดยขบวนการออกแบบ การเวนคืนที่ดินคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1ปี 3 เดือน หรืออย่างช้าไม่เกิน 2 ปี พร้อมส่งมอบที่ดินแล้วตอกเสาเข็มดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะแล้วเสร็จทันในปี 2566 หรือไม่ยังบอกไม่ได้พอต้องรอดูผลการสำรวจและออกแบบเส้นทางให้ชัดเจนก่อนว่ามีความยากง่ายในการก่อสร้างมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงนอกจากกลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่จะได้แบ่งเค้กแล้ว ยังอานิสงส์ถึงผู้รับเหมารายย่อยด้วย ที่จะได้ซับคอนแทรคงาน หรือรับเหมาช่วงต่อ ตลอดจนได้รับอานิสงส์ถึงกลุ่มรับเหมาเสาเข็มเจาะอีกด้วย
#นิวส์คอนเน็คท์
#ไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน
#เค้กก้อนโต2.2แสนล้าน