Phones





ทิพยประกันภัย ติดปีกลุยหลังหมดเคลมโควิด กำไรQ3/65 พุ่ง253%

2022-11-14 12:53:50 142



นิวส์ คอนเน็คท์ - ทิพยประกันภัย หรือ TIP โชว์กำไรไตรมาส 3 ที่ 470.05 ล้านบาท เติบโต 253.40% จากไตรมาสก่อน พร้อมโชว์เบี้ยประกันภัยรับ 9 เดือน แตะ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงช่องทางการขายร่วมกับพันธมิตร สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยผลการดำเนินงานของ ทิพยประกันภัย ในไตรมาส 3/2565 เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีกำไรสุทธิ 470.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 776.47 ล้านบาท หรือ 253.40% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ เพิ่มขึ้นจำนวน 85.43 ล้านบาท หรือ 22.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเบี้ยประกันภัยรับของบริษัทฯ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนสำหรับประกันภัยโควิดได้สิ้นสุดลงแล้ว 

ทั้งนี้ TIP มีเบี้ยประกันภัยรับรวมในไตรมาส 3/2565 ถึง 7,307.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 917.94 ล้านบาท หรือ 14.37% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 1,248.11 ล้านบาท หรือ 20.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทฯ สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 2,392.34 ล้านบาท มาอยู่ที่ 21,790.15 ล้านบาท หรือ 12.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับในทุกผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยเบี้ยประกันอัคคีภัย เติบโต 43.51% เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เติบโต 24.95% เบี้ยประกันภัยรถยนต์ เติบโต 23.65% และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด เติบโต 4.87%

ดังนั้น จากผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 3/2565 ส่งผลให้กำไรสุทธิของ TIP สำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 806.25 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีกำไรสุทธิ จำนวน 336.21 ล้านบาท 

ในส่วนของ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ TIPH ดร.สมพร ระบุว่าการลงทุนของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เริ่มที่จะสะท้อนผลการดำเนินงานที่โดดเด่นตามที่บริษัทฯตั้งเป้าหมายไว้แล้ว โดยที่ผลการดำเนินงานปกติของบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มธุรกิจสนับสนุนประกันภัย (Insurance Supported Business) ได้แก่บริษัท อะมิตี้ อินชัวร์รันซ์ โบรคเกอร์ จำกัด หรือ Amity มีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 11.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาท หรือ 83.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ ในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และบริษัท ดีพี เซอร์เวย์ แอนด์ลอว์ จำกัด หรือ DP Survey มีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 19.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8 ล้านบาท หรือ 140.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้จากการสำรวจภัยเพิ่มขึ้นและการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทที่ TIPH ได้เข้าลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาได้แก่ บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด และ บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มสร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจบริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) และธุรกิจประกันวินาศภัยได้

โดยที่บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง TIPH กับธนาคารออมสิน และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่ง TIPH ถือหุ้น 31% คาดว่าจะเริ่มให้บริการธุรกิจแรก คือ สินเชื่อที่ดิน รับจำนองและขายฝาก ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งภายใต้ Business Model ของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด จะช่วยให้ประชาชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงด้วยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยจะนำร่องเปิดให้บริการ สินเชื่อที่ดิน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ 

ในส่วนของ เอราวัณประกันภัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยดิจิทัล 100% แห่งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ InsurVerse โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% ได้ภายในสิ้นปีนี้

"เชื่อมั่นว่าจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดขึ้นของ โควิด-19 และแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว จะส่งผลให้บริษัทฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวทั้งในแง่ของ Business Model และบุคลากรเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อที่จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจวินาศภัยของไทยควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่างๆ สอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไป" ดร.สมพร กล่าว