Phones





เงินเฟ้อ10เดือนแรกปีนี้ขยายตัว0.74%

2019-11-01 13:02:31 333




นิวส์ คอนเน็คท์ - พาณิชย์เผยเงินเอเดือน ต.ค.ลดลงจากเดือนก่อน 0.16% เป็นผลจากราคาน้ำมันปรับลดลง เฉลี่ย 10 เดือนยังขยายตัวเป็นบวก 0.74% คาดไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามมาตรการกระตุ้นเศรษบกิจ ทั้งปีอยู่ในกรอบ 0.7-1.0%


เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค.2562 เท่ากับ 102.74 ลดลง 0.16% จากเดือน ก.ย. แต่เพิ่มขึ้น 0.11% เทียบเดือน ต.ค.2561 ขณะที่เฉลี่ย 10 เดือนแรกปีนี้เทียบปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.74% ทั้งนี้ การที่เงินเฟ้อเดือน ต.ค.2562 สูงขึ้น 0.11% ชะลอตัวต่อเนื่องค่อนข้างมากจาก 0.52% และ 0.32% ในเดือน ส.ค. และ ก.ย.ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญของการชะลอตัวยังคงเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาพลังงาน ซึ่งในเดือนนี้ ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงถึง 11.57% ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ต่ำที่สุดในรอบ 43 เดือน ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะข้าวสาร ผักสด และผลไม้สด ยังคงขยายตัวได้ดี และสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่ทรงตัว


ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว  เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.44% จากเดือนก่อนขยายตัว 0.44% เช่นกัน และเฉลี่ย 10 เดือน เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.53%


ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.2562 อยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน  ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 39.8 มาอยู่ที่ 40.5  และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.1  มาอยู่ที่ 50.2 เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคต โดยเป็นผลจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา  ทั้งในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร  มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวผ่านโครงการชิมช้อปใช้  และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะออกมาอย่างต่อเนื่อง  

โดยเงินเฟ้อในเดือนนี้ยังคงได้รับแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ การส่งออก และการแข็งค่าของเงินบาท สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาหดตัว และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อาทิ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกจากการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ สนค. คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 0.7 - 1.0%



#เงินเฟ้อทั่วไป
#กระทรวงพาณิชย์
#สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
#น้ำมันราคาลด