Phones





KTB -กรมบัญชีกลาง จับมือเชื่อมสิทธิข้าราชการเข้ากระเป๋าสุขภาพแบบเรียลไทม์

2022-12-20 18:20:04 122



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB จับมือ กรมบัญชีกลาง ยกระดับการให้บริการการใช้สิทธิ เบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และบริการชำระค่ารักษาพยาบาลผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมี 6 โรงพยาบาลนำร่องที่พร้อมให้บริการในปี 65 และภายในต้นปี 66 มีแผนเปิดให้บริการกับอีก 15 โรงพยาบาล
 
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารเดินหน้ายกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศโดยพัฒนาระบบ Krungthai Digital Health Platform มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนงานด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 Ecosystems หลักของธนาคาร โดยร่วมกับกรมบัญชีกลางและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ยกระดับบริการด้านสาธารณสุขให้กับข้าราชการของประเทศ เชื่อมต่อข้อมูลให้สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแบบเรียลไทม์ผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Platform ที่พัฒนาโดยบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย ให้รองรับผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ภายใต้กรมบัญชีกลาง ทั้งข้าราชการปัจจุบัน ข้าราชการเกษียณอายุ รวมถึงบุคคลในครอบครัว ที่มีอยู่กว่า 4.7 ล้านคนทั่วประเทศ และนำระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) มาช่วยในการยืนยันตัวตนให้กับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วและแม่นยำ
 
ทั้งนี้ ธนาคารได้พัฒนาระบบการชำระเงิน ที่เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบเบิกจ่ายตรงของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ให้ผู้มีสิทธิสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการประเภทผู้ป่วยนอกได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องแสดงบัตรประชาชน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการใช้สิทธิ จากเดิมที่ใช้บัตรประชาชนอย่างเดียวในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านช่องทางเครื่อง EDC และสามารถชำระเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินสิทธิได้ทันที โดยสามารถเลือกจ่ายได้ทั้ง Krungthai NEXT หรือสแกน QR Payment ผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคาร
 
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนจะขยายช่องทางการชำระเงินผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิตในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วกับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ช่วยลดขั้นตอนและลดความแออัดให้กับโรงพยาบาล และเป็นการยกระดับการให้บริการด้านสวัสดิการและรักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้กับกรมบัญชีกลาง อีกทั้งยังมีบริการแจ้งเตือนให้ทำการยืนยันการใช้สิทธิ และชำระเงินส่วนเกินสิทธิทันทีหลังเข้ารับบริการ พร้อมอำนวยความสะดวกผู้ใช้สิทธิด้วยบริการแจ้งเตือนรายการนัดหมายในครั้งถัดไป และสามารถตรวจสอบรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลย้อนหลังได้ที่เมนูประวัติการทำรายการย้อนหลังผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง
 
สำหรับโครงการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพนี้ ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงกลาโหม สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกันยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขให้กับข้าราชการของประเทศ กรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมโครงการ ในการให้บริการผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยในระยะเริ่มต้น มี 6 โรงพยาบาลนำร่องที่พร้อมให้บริการ ได้ในปี 65 ได้แก่ 1. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 4. โรงพยาบาลสระบุรี 5.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6.โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
 
อย่างไรก็ตาม ภายในต้นปี 66 มีแผนเปิดให้บริการกับอีก 15 โรงพยาบาล ได้แก่ 1. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 2. โรงพยาบาลบางคล้า 3. โรงพยาบาลปากช่องนานา 4. โรงพยาบาลพนมสารคาม 5. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 6. โรงพยาบาลพุทธโสธร 7. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 8. โรงพยาบาลราชวิถี 9. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 10. โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 11. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 12. โรงพยาบาลสมุทรปราการ 13. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 14. สถาบันโรคทรวงอก 15. สถาบันประสาทวิทยา และเตรียมพร้อมขยายการเชื่อมต่อระบบครอบคลุมโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้สามารถดูรายชื่อโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.cgd.co.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล
 
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนต่อยอดความร่วมมือ ที่จะเชื่อมการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สำหรับบริการ Telehealth ให้ผู้ป่วยที่รักษาทางไกล สามารถใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายและทำเรื่องเบิกย้อนหลัง ซึ่งธนาคารมีความพร้อมและยินดีให้การสนับสนุนการพัฒนายกระดับการบริการในทุกด้านเพื่อให้ข้าราชการและประชาชนคนไทย สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม