Phones





KTC ปักธงกำไรขึ้นสู่ 1 หมื่นล. วางหมากดันทุกกลุ่มธุรกิจโตแกร่ง

2023-01-02 17:12:08 143



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - KTC วางเป้าหมายกำไรปี 66 ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ก่อนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10,000 ล้านบาทภายในปี 67 เดินหน้าเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ และมีหน่วยงานใหม่ๆเพิ่มขึ้น รวมถึงนำ Information Technology เข้ามาขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร
 
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ (Flat Organization) และมีหน่วยงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งบูรณาการไอที (Information Technology) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ 1.Enterprise Architecture การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านไอที และระบบปฏิบัติการ, 2.Enterprise Skill Assets ให้คนเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ สร้างความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์กับองค์กร และ3.Enterprise Data Assets การบริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย เพื่อให้เคทีซีมีฐานข้อมูลคุณภาพ
 
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2570 ไว้ที่มากกว่า 10,000 ล้านบาท จากในปี 2565 ที่คาดว่ากำไรจะทำได้ไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 มีกำไรแล้ว 5,413.54 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจากการปรับกลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผลการดำเนินงานปี 2566 สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่องในส่วนของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2566 จะควบคุมอยู่ในระดับไม่เกิน 1.7% พร้อมวางเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 15%
 
สำหรับกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 แบ่งออกเป็น 5 แกนสำคัญ คือ 1) การบริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ทำการตลาดเพื่อให้ลูกค้ามียอดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และการนำระบบออโตเมชั่น (Automation) เข้ามาใช้ในกระบวนการของการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร, 2) การเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป, 3) จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม (Dining & Hotel Dining) หมวดช้อปปิ้งออนไลน์ และหมวดท่องเที่ยว นอกจากนี้ เคทีซียังคงเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกัน ในการทำกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ทุกหมวดใช้จ่ายสำคัญของสมาชิก
 
4) ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาดและกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด และ 5) บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด (Marketing Communications)ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ KTC ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยในปี 2566 ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ และคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% จากปี 2565 หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท
 
ขณะที่กลุ่มธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New SCurve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง เพราะมองว่าหลังจากการเปิดประเทศสู่ภาวะปกติ ผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้นต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ลงทุนและใช้จ่าย อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” และ “เคทีซี พราว” ในการเข้าไปเติมเต็มความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น โดนกลยุทธ์ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในปี 2566 จะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ผ่านธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร
 
นอกจากนี้ จะเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลทฟอร์มหลักต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดปล่อยสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” อยู่ที่ราว 9,100 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างในปี 2566 จะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท จากปี 2565 ที่พอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ในส่วนของกรุงไทยลิสซิ่ง ซึ่งปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ วางเป้าหมายยอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท
 
ในส่วนธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) วางแผนกลยุทธ์ในปี 2566 จะพัฒนาไปในทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับ พฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มที่การเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายแอปฯ ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอปฯ KTC Mobile ให้สะดวกขึ้น โดยเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง
 
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี ในปี 2566 และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่ “เคทีซี พราว” เป็นกว่า 110,000 ราย สำหรับกลุ่มโมเดลธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator) เช่น MAAI - Loyalty Platform คาดว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
 
สำหรับงบลงทุนในปี 2566 เบื้องต้นวางไว้ที่ประมาณหลักร้อนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนพัฒนาระบบไอที ซอฟแวร์ ตลอดจนแอพพลิเคชัน เพื่อให้คล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันทางเคทีซีจะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4,640 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี