นิวส์ คอนเน็คท์ - PTTGC ชี้สงครามการค้า ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอ่อนตัว ฉุดกำไรไตรมาส 3/62 ลดลงเหลือ 2,663 ล้านบาท ขณะที่ปี 63 ยังต้องลุ้นปัจจัยสงครามการค้า
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 นางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า PTTGC มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 2,663 ล้านบาท ลดลง 79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,792 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/62 ที่มีกำไรสุทธิ 2,202 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯมีรายได้จากการขาย 105,154 ล้านบาท ปรับลดลง 1% จากไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 106,748 ล้านบาท และลดลง 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 136,712 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการช่วงไตรมาส 3/2562 ที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562 เนื่องจากปริมาณการขายที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธรุกิจอะโรเมติกส์ที่เสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 ในไตรมาส 2/2562 ประกอบกับส่วนต่างของผลิตภัณฑ์โรงกลั่นและส่วนต่างของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,308 ล้านบาท ปรับลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 36,008 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จากผลกระทบของสงครามการค้าเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาส 3/2562 ส่วนต่างของผลติภัณฑ์โรงกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะส่วนต่างผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล-น้ำมันดิบดูไบ เป็นผลจากมาตรการการลดการใช้น้ำมันเตากำมะถันสูงในธุรกิจเดินเรือตามนโยบายของ International Marine Organization (IMO) และส่วนต่างของน้ำมันเตาที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่น มีค่าการกลั่น (GRM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากไตรมาส2/2562 อยู่ที่ 3.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ ส่วนต่างผลิตภัณฑ์เบนซีนกับคอนเดนเสทปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ และการลดลงของระดับสินค้าคงเหลือของเบนซีนในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามส่วนต่างผลติภัณฑ์พาราไซลีนกับคอนเดนเสทปรับตัวลดลง แม้ว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ยังคงมีอัตรากำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงก็ตาม เนื่องจากตลาดมีความกังวลจากกำลังการผลิตใหม่ที่ทยอยเข้ามา อย่างไรก็ตามผลจากการเปลี่ยน Catalyst ในไตรมาส 2/2562 ทำให้ได้ผลผลิตพาราไซลีนมากขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้น (Product to Feed margin) เพิ่มขึ้น 83% มาอยู่ที่ 136 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อตัน
นอกจากนี้ ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโดยรวม และมีแนวโน้มลดลงตลอดไตรมาส ส่งผลให้ Adjusted EBITDA margin ของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ปรับลดลง 15% ทำให้ Adjusted EBITDA ของบริษัทฯ ในไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 7,441 ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนแนวโน้มตลาดน้ำมันในปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 58-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนแนวโน้มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ บริษัทฯ คาดว่าส่วนต่างของผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับแนฟทาในปี 2563 จะอยู่ที่ 320-330 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจากปี 2562 สำหรับส่วนต่างของราคาเบนซีน และแนฟทาจะอยู่ที่ประมาณ 170-180 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เนื่องจากอุปสงค์ใหม่เพิ่มขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในปี 2563 บริษัทคาดว่าส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่19-20เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ IMO ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปี 2562 เล็กน้อยเนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการเจรจาประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนและยังไม่บรรลุถึงข้อตกลงทางด้านการค้า และจากผลดังกล่าวคาดว่าจะมีอุปทานใหม่จากประเทศสหรัฐเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้นรวมถึงกำลังการผลิตใหม่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก HDPEในปีหน้าจะอยู่ในระดับ 910-1,030 เหรียญสหรัฐต่อตัน นอกจากนี้ในปี 2563 บริษัทฯ มีแผนการหยุดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตอะโรเมติกส์ 2 ในไตรมาส 1/2563 เป็นเวลา 19 วัน