Phones





ญี่ปุ่นชื่นชม DFT เร่งพัฒนาเอกชนไทยให้จัดตั้งระบบงาน ICP

2023-02-03 19:44:38 766



นิวส์ คอนเน็คท์ - กรมการค้าต่างประเทศ (DFT) มอบประกาศนียบัตร ICP รุ่นที่ 5 ให้เอกชนไทย 56 ราย โดยมุ่งหวังให้สามารถนำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ไปจัดทำระบบงาน ICP ภายในองค์กร และสร้างเครือข่าย ICP ของไทยให้เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 กรมการค้าต่างประเทศได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ผ่านประเมินการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการบ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) เพื่อเตรียมตัวยื่นขอประเมินระบบงาน ICP และโครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบงาน ICP ระหว่างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ รุ่นที่ 1/2566 (รุ่นที่ 5) จำนวน 56 ราย ณ กรมการค้าต่างประเทศ โดยมีผู้แทนศูนย์ข้อมูลการควบคุมความมั่นคงทางการค้า (Center for Information on Security Trade Controls: CISTEC) พร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โตชิบา คอร์ปอเรชัน มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอร์ปอเรชัน และบริษัท ริโก้ จำกัด เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน 

โครงการ ICP In-house และ ICP Network รุ่นที่ 5 โดยความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) จัดขึ้นระหว่าง 28-29 พฤศจิกายน 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมฯ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารพาณิชย์ โดยผู้ผ่านโครงการฯ 56 ราย 42 องค์กร แบ่งเป็น ผู้ผ่านโครงการ In-house จำนวน 46 ราย จาก 32 องค์กร และผู้ผ่านโครงการ ICP Network จำนวน 10 ราย จาก 10 องค์กร

นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรมฯ ได้ดำเนินการจัดทั้ง 2 โครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 2565 มีองค์กรที่ผ่านการประเมินเพื่อรับรองระบบงาน ICP รุ่นที่ 1 ของไทยแล้ว 26 องค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถในการช่วยองค์กรจัดทำระบบ ICP นอกจากนี้ กรมฯ ได้เปิดหลักสูตร Intensive ICP @ Weekend ระหว่างวันที่ 11 – 12 มีนาคม 2566 และในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 จะเปิดให้องค์กร/นิติบุคคลยื่นขอรับการประเมินเพื่อรับรองระบบงาน ICP รุ่นที่ 2 ผ่านทางเว็บไซต์กรมฯ ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2547 4735 
ในวันเดียวกันนี้ DFT ได้ร่วมหารือกับ CISTEC และผู้แทนบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น ในประเด็นความคืบหน้าการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ในทศวรรษนี้ที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งรวมถึงสินค้าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยทั่วโลกกังวลว่าอาจมีการนำ AI ไปเกี่ยวข้องกับ WMD ซึ่ง EU คาดว่าจะกำหนด AI ให้เป็น DUI ใน EU List ในอีก 2-3 ปี ดังนั้น จากการที่ไทยได้นำเอา EU List มาใช้เป็นบัญชีหลักในการควบคุมฯ ของประเทศ ทางไทยก็จะควบคุม AI ที่เป็น DUI ภายใต้พระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 ได้เช่นกัน ก่อนปิดการหารือ CISTEC ได้ชื่นชม DFT ที่สามารถผลิตบุคลากรภาคเอกชนจัดตั้งระบบงาน ICP ในระยะเวลาอันสั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และประเด็นที่น่าประทับใจ คือ แนวทางการจัดทำระบบ ICP ของไทยมีลักษณะเป็นมิตรกับทุกองค์กรให้สามารถเข้าถึงได้ตามความพร้อมของแต่ละองค์กร ทั้งนี้ CISTEC มุ่งหวังให้มีความร่วมมือกันตลอดไป