Phones





NER แกร่ง! ไม่เกรงใจใคร - โบรกฯ เชียร์ "ซื้อ"

2023-03-09 21:44:52 302



NER แกร่ง! ไม่เกรงใจใคร - โบรกฯ เชียร์ "ซื้อ" (สกู๊ปพิเศษ)
ทำผลงานออกมา ยังคงเป็นที่ประจักษ์ถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งมากๆ สำหรับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ และกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยผลการดำเนินงานปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีรายได้จากการขายสินค้า 25,172.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 746.40 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.06% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีกำไรสุทธิรวม 1,748.00 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 6.94% โดยรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยในปี 2565 เพิ่มสูงขึ้น 4.25% เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่ต้นทุนขายในปี 2565 อยู่ที่ 22,116.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87.86% ของรายได้จากการขาย 

"คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.38 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 702.16 ล้านบาท เมื่อหักเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 อัตราหุ้นละ 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงิน 129.34 ล้านบาท ที่ได้จ่ายไปเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกอัตราหุ้นละ 0.31 บาท คิดเป็นเงิน 572.81 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินปันผลปี 2565 คิดเป็นอัตรา 40.17% ของกำไรสุทธิหลังจากหักเงินทุนสำรองตามกฎหมาย โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล หรือ Record date วันที่ 21 เม.ย. 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 9 พ.ค. 2566" นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าว

สำหรับปี 2566 บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายรวมที่ 5 แสนตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะจีน และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าประเทศต่างๆ รวมถึงอินเดียเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายราย ทั้งในจีน สิงคโปร์ อินเดีย และในไทย

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตสินค้าประเภทยางแท่งและยางแท่งผสม โดยการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสม แห่งที่ 3 กำลังการผลิต 172,800 ตัน ใช้งบลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการและการปรับปรุงที่ดิน ซึ่งคาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 688,400 ตันต่อปี

ด้านธุรกิจสินค้าสำเร็จรูป (สินค้าปลายน้ำ) บริษัทมีแผนการทำการตลาด โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าปลายน้ำต่างๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก ให้เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สัดส่วนยอดขายสินค้าปลายน้ำเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้ส่วนผสมของยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่บริษัทในระยะยาว
ผลงานที่ออกมาในแต่ละไตรมาส แต่ละปี รวมทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนและปันผลของ NER ไม่เคยให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ผิดหวัง ทำให้โบรกเกอร์หลายสำนัก ต่างเทเสียงเชียร์ "ซื้อ" หุ้น NER มาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับล่าสุดที่มีโบรกเกอร์อย่างน้อย 7 แห่ง ประสานเสียงเชียร์ "ซื้อ" NER โดย บล.เอเซีย พลัส คาดกำไรสุทธิปี 2566 ของ NER จะเพิ่มขึ้น 19% yoy จากแนวโน้มปริมาณขายยางพาราเพิ่มขึ้น 14% yoy โดยคาดกำไรสุทธิงวด 1Q66 จะเติบโตจากงวด 4Q65 จากแนวโน้ม gross margin ฟื้นตัว ตามทิศทางราคายางพาราโลก และ NER ประกาศจ่ายปันผลสำหรับงวด 2H65 เท่ากับ 0.31 บาท คิดเป็น Div yield 5.3% แนะนำ "ซื้อ"

ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง คงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 8.70 บาท โดยระบุว่า 1.ไตรมาส 4/65 เชื่อว่าเป็น bottom ของราคายาง และ GPM โดยกำไรจะไต่ไป peak ไตรมาส 3/66 หรือตั้งแต่ ม.ค. 66 ออเดอร์จีนมาหนาแน่น ทั้งเปิดเมือง ทั้งรถ EV แม้ volume 1Q66 จะย่อจาก 4Q65 แต่ GPM ที่ฟื้นออกมา มองว่ากำไรไรจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อเทียบ QoQ แล้วเดินหน้าต่อ, 2.บริษัทเตรียมขยายกำไรการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น 33% หรืออีก 1.7 แสนตัน ใช้เงิน 700 ล้านบาท แล้วเสร็จ 1Q67 ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่เหนือความคาดหมาย และ 3.การเพิ่มทุนแบบ PP mandate 8.7% ยังขอมติผู้ถือหุ้นค้างไว้ก่อน เผื่อไว้สำหรับเตรียมเงินทุน ลดภาระดอกเบี้ย ขยาย w/c เพื่อลดระดับ D/E ratio
ส่วน บล.พาย มอง 4Q22 ไม่ดี เพราะราคาขาย แต่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 8.50 บาท โดยยังไม่ได้รวมหุ้นเพิ่มทุนที่เตรียมขายให้กับกองทุนต่างประเทศด้วย เช่นเดียวกับ บล.ยูโอบี เคย์ เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า จุดที่ดีในการเข้าซื้อมาถึงแล้ว โดยกำไร 4Q22 ลดลง 39.6% yoy และ 30.4% qoq ต่ำกว่าที่คาด กดดันจาก ASPs และ GPM ที่ลดลง ตามแนวโน้มราคายางช่วง 3Q22 แต่ฝ่ายวิจัยมีการปรับประมาณการปี 2023-24 ลง 9% และ 7% ตามลำดับ โดยได้กำไรปี 2023 ยังเติบโต 14% yoy หนุนจากปริมาณขายที่ขยายตัว yoy ทั้งนี้ มีแนวโน้มกำไรระยะสั้น 1Q23 อาจยังไม่โดดเด่น แต่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2Q23 ตามราคายางที่เริ่มฟื้นตัวนับจากช่วงปลายปี 2022 ขณะที่ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 7.60 บาท ยังมี Upside + yield น่าสนใจ คงคำแนะนำ "ซื้อ"

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คงคำแนะนำ "ซื้อ" เป้าหมาย 9.70 บาท โดยคาดกำไรปกติใน 1Q66 กลับมาที่ระดับเหนือ 400 ล้านบาท จากการฟื้นตัวของราคาขายเฉลี่ยราว 10% ขณะที่ปริมาณขายคาดทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ ทำให้กำไรฟื้นตัวระดับ 20%+/- เทียบ QoQ และทรงตัว YoY บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายที่ 5 แสนตันในปี 2566 และตั้งเป้ารายได้ที่ 3 หมื่นล้านบาท จึงยังคงประมาณการกำไรปี 2566 ที่ 2,200 ล้านบาท คงราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 9.70 บาท คงคำแนะนำ "ซื้อ"