Phones





กกพ.ชง กพช.เลื่อนCODโรงไฟฟ้าติดEIAล่าช้า

2019-11-20 12:27:28 462




นิวส์ คอนเน็คท์ - กกพ. เตรียมชง กพช. 16 ธ.ค.นี้ พิจารณาเลื่อนกำหนด COD โรงไฟฟ้าติดปัญหาจัดทำ EIA ล่าช้า เข้าระบบไม่ทันปี 2563-2564 รวมกว่า 300 เมกะวัตต์ พร้อมถก ปตท.แผนยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG


เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ธ.ค.62 กกพ.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลากำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถ COD ได้ตามแผนในช่วงปี 2563-2564 กำลังผลิตรวมประมาณ 300 เมกะวัตต์ เพื่อผ่อนผันให้สามารถเลื่อน COD ออกไปจากกำหนดเดิมได้


ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการตั้งแต่ช่วงปี 2558-2560 ตามมติ กพช. ในอดีต เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชน และชีวมวล เป็นต้น ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ติดปัญหาแนวทางปฏิบัติ เช่น เรื่องของการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า ส่งผลให้กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ล่าช้าออกไป


โดย กกพ.จะเสนอหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขอเลื่อนกำหนด COD อย่างเหมาะสม เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) โดยแต่ละโรงไฟฟ้าจะมีการพิจารณาเลื่อนกำหนด COD แตกต่างกัน ตามสถานการณ์จริง และจะไม่โดนค่าปรับกรณีที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันตามกำหนดเดิม ซึ่งจะดูตามความพร้อมของพื้นที่ ที่ต้องห้ามย้ายพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และสถานะด้านการเงินด้วย


นอกจากนี้ กกพ.ยังเตรียมรายงาน กพช.ถึงความคืบหน้าแผนการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบตลาดจร (spot) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 2 ลำ ลำละ 6.5 หมื่นตัน คาดว่าจะเริ่มนำเข้าลำแรกมาป้อนโรงไฟฟ้ากลางในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อทดสอบระบบโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท. (Third Party Access :TPA)


พร้อมกันนี้ กกพ.เตรียมเชิญบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มาหารือถึงแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (HUB LNG) ในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ หลังจาก ปตท.ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วม “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox :ERC Sandbox) ของ กกพ. เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตท. และโครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจี ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด


อย่างไรก็ตาม กกพ.สนับสนุนแนวทางที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น HUB LNG แต่ในทางปฏิบัติควรจะต้องเกิดความชัดเจนด้านโครงการอัตราก๊าซฯของประเทศก่อน เพราะมีการนำเข้า LNG จากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG หรือผู้ใช้บริการ (Shipper) จากเอกชนรายอื่นๆ จะมีสูตรคำนวนราคาก๊าซฯอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ