Phones





พิษเงินบาทแข็ง! ส่งออกต.ค.ติดลบ10.50%

2019-11-21 11:39:19 507




นิวส์ คอนเน็คท์ - ส่งออกไทยเจอพิษบาทแข็ง ยอดเดือน ต.ค.ติดลบ 4.5% ขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทติดลบถึง 10.5% "พาณิชย์" ชี้แนวโน้มการส่งออกของไทยยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว


เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า มูลค่าการค้าของเดือน ต.ค.2562 การส่งออกมีมูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 20,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.6% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยอดรวม 10 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 207,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.4% การนำเข้ามีมูลค่า 199,442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.1% และการค้าเกินดุล 7,888 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


สำหรับมูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือน ต.ค.2562 การส่งออก มีมูลค่า 628,319 ล้านบาท หดตัว 10.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 621,738 ล้านบาท ลดลง 13.2% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 6,581 ล้านบาท รวม 10 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 6,461,028 ล้านบาท ลดลง 4.8% การนำเข้ามีมูลค่า 6,306,472 ล้านบาท ลดลง 6.4% และการค้าเกินดุล 154,556 ล้านบาท


ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. หดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง จากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวในรอบหลายปี ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และนาฬิกาและส่วนประกอบ นอกจากนี้ วัฎจักรการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาเป็นบวกในรอบ 13 เดือน และใกล้เคียงมูลค่าช่วงก่อนมาตรการภาษีภายใต้สงครามการค้ามีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.ย. 61 เช่นเดียวกับแผงวงจรไฟฟ้าที่เริ่มกลับมาขยายตัวในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา


ส่วนตลาดการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และไต้หวันกลับมาขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนการปรับตัวการส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าได้บางส่วน


สำหรับแนวโน้มการส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเริ่มขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงรายภูมิภาค/ประเทศ และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า ยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าและการส่งออกไทยในระยะสั้น-กลาง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไปได้บ้าง โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง