Phones





อีกก้าว...กับการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

2019-12-05 19:07:21 363




นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย จากการที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พร้อมคณะผู้บริหาร พนักงานสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุมสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ครั้งที่ 26 (26th IAIS Annual Conference 2019) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


การประชุมครั้งนี้ มีสมาคมหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors : IAIS) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Insurance Authority) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่มีการศึกษาให้มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ ของสมาคมฯ


โดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า ผลการประชุมในครั้งนี้มีสาระสำคัญ คือ การให้ความเห็นชอบกรอบการกำกับกลุ่มธุรกิจประกันภัยที่มีบริษัทในเครืออยู่ทั่วโลก (Internationally Active Insurance Groups: IAIGs) การบรรเทาความเสี่ยงต่อระบบที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจประกันภัย และกรอบการกำกับกลุ่มธุรกิจประกันภัย โดยแยกเป็น 3 ประเด็นหลักๆ คือ


ประเด็นแรก Common Framework (ComFrame) เป็นมาตรฐานการกำกับประกันภัยกลุ่มบริษัทประกันภัยที่มีบริษัทในเครืออยู่ทั่วโลก หรือ IAIGs ซึ่งจะมีการกำหนดรูปแบบการกำกับให้เหมาะสมกับขนาดและกิจกรรมของแต่ละกลุ่มบริษัทประกันภัย โดยมาตรฐาน ComFrame จะนำไปรวมอยู่ในมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย หรือ Insurance Core Principles (ICPs) ด้วย อาทิ คุณสมบัติของกรรมการและบุคลากรในส่วนงานที่สำคัญของบริษัท การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน การตรวจสอบและการจัดส่งรายงาน มาตรการการแทรกแซง การเลิกทำธุรกิจ การลงทุน การบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม การกำกับบริษัทแบบ Group-wide และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับที่ IAIGs ประกอบธุรกิจประกันภัยอยู่ เป็นต้น


ประเด็นที่สอง Insurance Capital Standard (ICS) เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสามารถหารือร่วมกันในเรื่องการดำรงเงินกองทุนของกลุ่มบริษัทประกันภัย (IAIGs) ในการประชุมได้มีการเห็นชอบต่อ ICS version 2.0 ซึ่งจะกำหนดวิธีการประเมินมูลค่า คุณสมบัติของเงินกองทุนและมาตรฐานการกำหนดเงินกองทุนขั้นต่ำ ในส่วนของการบังคับใช้จะเริ่มดำเนินการในปี 2020 โดยใน 5 ปีแรกจะเป็นช่วงติดตามและจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาแนวทางการดำรงเงินกองทุนของกลุ่มบริษัทประกันภัยต่อไป


ประเด็นที่สาม Holistic Framework โดย IAIS ได้พัฒนา Holistic Framework for Systemic Risk in the Insurance Sector หรือที่เรียกว่า Holistic Framework มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงและระบุต้นเหตุของความเสี่ยงต่อระบบ กรอบการกำกับนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักคือ (1) Supervisory material การกำหนดมาตรฐานการกำกับ อาทิ ICPs และ ComFrame เป็นต้น
(2) Global monitoring exercise การร่วมมือกับระหว่างหน่วยงานกำกับทั่วโลกเพื่อระบุแนวโน้มตลาดประกันภัยโลกพร้อมทั้งพัฒนาและบ่งชี้ระดับ systemic risk ที่เพิ่มขึ้นทั้งในระดับบริษัทและเขตการปกครอง (3) Implementation assessment การบังคับใช้มาตรฐานการกำกับที่เกี่ยวข้องกับการระบุและลดระดับ systemic risk



"การเห็นชอบร่วมกันของประเทศสมาชิก IAIS ต่อการปรับปรุงกรอบการกำกับกลุ่มธุรกิจประกันภัย (IAIGs) ถือเป็นก้าวสำคัญของ IAIS ซึ่งจะมีผลต่อผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในด้านการสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนของภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงเป็นการปกป้องสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงให้แก่ภาคการเงินในระดับโลกด้วย"


เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ในการเข้าร่วมการประชุมสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ครั้งที่ 26 นอกจากจะร่วมประชุมแลกเปลี่ยนมุมมองการกำกับธุรกิจประกันภัยในเวทีดังกล่าวแล้ว ยังได้มีโอกาสประชุมหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูงจาก The Global Federation of Insurance Associations (GFIA) ซึ่งสมาชิก GFIA ประกอบด้วยภาคธุรกิจประกันชีวิตและภาคธุรกิจประกันวินาศภัย โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการพัฒนาธุรกิจประกันภัยต่อ ให้มีอัตราการเติบโตยิ่งขึ้น และการนำความรู้ของธุรกิจประกันภัยต่อมาพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจประกันภัย


รวมทั้งยังได้เข้าร่วมประชุมหารือกับประเทศสมาชิก Asian Forum of Insurance Regulators (AFIR) ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยภูมิภาคเอเชีย ในการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน และในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ดูไบ สิงค์โปร์ ไทย เป็นต้น โดยมีประเทศคาซัคสถานเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่อีกด้วย การหารือในครั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญ คือการยกระดับบทบาทและความชัดเจนในการดำเนินงานของ AFIR และกำหนดการจัดประชุม AFIR ครั้งที่ 15 ณ เมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย อีกทั้งสำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติเป็นผู้จัดการประชุม AFIR ครั้งที่ 16 ที่ประเทศไทย ในปี 2564



นอกจากนี้ ยังได้หารือกับคณะผู้บริหารระดับสูงของสมาคมนายทะเบียนประกันภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (National Association of Insurance Commissioners) โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพการกำกับดูแลในประเทศเกิดใหม่ อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการกำกับดูแล การนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ การพัฒนาความรู้ให้แก่บุคลากรด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับหัวข้อด้านประกันภัยที่จะมีโครงการจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่คปภ. และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกำกับดูแลจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะจัดในช่วงกลางปี 2563


อีกทั้งยังได้ร่วมประชุมทวิภาคีกับ H.E. Ebrahim Obaid Al Zaabi, Director General ของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Insurance Authority) พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูงของ UAE IA โดยได้มีการหารือในหลายประเด็น อาทิ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยตะกะฟุล การประกันสุขภาพ การดูแลและปกป้องสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. และ UAE IA ได้หารือแนวทางการยกระดับความร่วมมือโดยจะจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลและการส่งเสริมการให้ความรู้ระหว่างกัน


“การเข้าร่วมประชุมและพบปะหน่วยงานในประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศในครั้งนี้ นับเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี โดยมีหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ภายใต้ธีม “Supervision in a Digital Era” โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีโอกาสประชุมหารือและรับทราบถึงพัฒนาการในการปรับปรุงมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกยึดถือเป็นหลักการในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกติกาในบางเรื่องจะเพิ่มความเข้มข้น มากขึ้นและอาจจะกระทบต่อกลุ่มธุรกิจประกันภัยข้ามชาติ เราจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและศึกษาให้เกิดความรอบคอบ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว