Phones





เอกชนรุมตอมโรงไฟฟ้าชุมชน ค่าไฟสูง5.84บ./หน่วย

2019-12-09 16:08:26 651




นิวส์ คอนเน็คท์ – RATCH - GPSC - ACE สนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน หลัง กบง.เห็นชอบโมเดล 1,000 เมกะวัตต์ พร้อมให้อัตราค่าไฟฟ้าจูงใจผู้ลงทุน 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 8 ปี ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือถือหุ้นบุริมสิทธิ์ในโรงไฟฟ้าในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10%


เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางกาาจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ใน 4 รูปแบบ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียหรือของเสีย) และโรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดจากการผสมผสานของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์


ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชุมชนที่จัดตั้งจะมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งในแต่ละแห่งจะต้องเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือถือหุ้นบุริมสิทธิ์ในโรงไฟฟ้าในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10% ร่วมกับเอกชนทั้งหมด หรือเอกชนร่วมกับภาครัฐ โดยจะไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชนไว้ เพื่อเปิดช่องให้กับเอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนเข้ามาได้ รวมทั้งจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย ยกเว้นโมเดลโรงไฟฟ้าไฮบริดที่จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเชื้อพลิงหลัก 25 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนของพลังานแสดงอาทิตย์ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ เอกชนผู้ลงทุนจะต้องทำพันธสัญญากับเกษตรกรในชุมชนในการปลูกพืชพลังงานเพื่อส่งป้อนให้โรงไฟฟ้า

ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น จะเป็นไปตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่ประกาศไว้เมื่อปี 2558 โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดตั้งแต่ 1-3 เมกะวัตต์จะรับซื้อที่ 4.82 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี แต่บวกให้อีก 40 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรก หากขนาดเกินกว่า 3 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะรับซื้อที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 30 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรกส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียทุกขนาด จะรับซื้อในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก รวมทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานทุกขนาด จะรับซื้อที่ 5.34 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกเพิ่มให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก ส่วนโรงไฟฟ้าประเภทไฮบริดแยกเป็น 2 ราคาเช่นกัน ตามชนิดเชื้อเพลิงดังกล่าว และจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 2 บาทต่อหน่วย


นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงานนั้น ทางบริษัทก็สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนถ้าหากมีโอกาส ซึ่งต้องดูว่ากระทรวงพลังงานจะสนับสนุนให้ลงทุนในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงใดบ้าง โดยทาง GPSC มีความพร้อมหมด โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะชุมชนขนาดกำลังกาผลิต 9.8 เมกะวัตต์ที่ จ.ระยอง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.) จะเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมขยะให้กับทาง GPSC ปริมาณไม่น้อยกว่า 500 ตันต่อวัน พร้อมกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 64

ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานมีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางกาาจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น หากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอยู่ในหลักเกณฑ์สนับสนุนของกระทรวงพลังงานทาง GPSC ก็พร้อมขยายลงทุนในเฟสที่ 2 ต่อไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะป็นพื้นที่ทีศักยภาพเพียงพอโดยคาดว่าจะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหลังจากเปิด EEC


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงานนั้น บริษัทฯก็สนใจที่จะลงทุน แต่กำลังพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากบริษัทฯ เป็นบริษัทใหญ่ดังนั้นการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องหาหลายพื้นที่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าหลายโรงจึงจะคุ้มค่าการลงทุน


นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE กล่าวว่า บริษัทมีศักยภาพและความพร้อมเพียงพอทั้งในด้านพื้นที่ วัตถุดิบ บุคลากร เทคโนโลยีที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงาน บริษัทคาดว่าจะมีโอกาสเป็นผู้ดำเนินลงทุนในหลายโครงการด้วยกันเนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว ประกอบกับมีพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่สามารถรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ขณะที่วัตถุดิบก็มีเพียงพอทั้งที่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ รวมถึงสามารถลงทุนในรูปแบบโซลาร์ไฮบริด


ปัจจุบัน บริษัทมีโรงไฟฟ้าในมือรวมทั้งหมดจำนวน 33 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 421.37 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 13 โครงการ รวมกำลังการผลิต 211.18 เมกะวัตต์ ที่เหลือ 20 โครงการกำลังการผลิตรวม 210.19 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะทยอย COD เข้าระบบได้ทั้งหมดในปี 2565