นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB ประเมินตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 63 ในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล เติบโต 5.5% รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และผู้ประกอบการหันมาเน้นโครงการแนวราบมากขึ้น พร้อมลุ้นธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV หวังช่วยให้ตลาดบ้านสัญญาที่ 2 กลับมาฟื้นตัว หลังติดลบหนักถึง 17%
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 62 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 63 ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ประเมินว่ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ราว 5.5% โดยจะมาจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม 4.5% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบ 6% ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มให้ความสำคัญกับโครงการแนวราบมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะมีการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง
สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 5.36 แสนล้านบาท ชะลอตัว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม 2.42 แสนล้านบาท ลดลง 11% มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบอยู่ที่ 2.94 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการปรับฐานของตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจากการบังคับใช้เกณฑ์ LTV ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.62 ส่งผลกระทบต่อยอดขายตลาดบ้านสัญญาที่ 2 ทั้งโครงการแนวราบ และโครงการแนวสูงชะลอตัว 17% ซึ่งหากในปีนี้ยังมีการใช้เกณฑ์ LTV เช่นเดิมคาดว่ายอดขายของตลาดสัญญาที่ 2 จะชะลอตัว 14% โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า อาจจะมีการทบทวนเกณฑ์ LTV เพื่อให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งมองว่าการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะช่วยให้การซื้อบ้านสัญญาที่ 2 กลับมาเป็นบวกได้ประมาณ 2%
ด้านนายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า จากการทำการสำรวจเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมในย่านรัชโยธิน พบว่า เป็นหนึ่งในทำเลที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหาคอนโดมิเนียม เพราะมีความสะดวกสบายในการเดินทาง และ ความอุดมสมบูรณ์ในหลายมิติเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ มีศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียง สถานศึกษาที่สำคัญ รวมทั้งสถานพยาบาล
โดยมีตัวเลือกมากถึง 11,561 ยูนิต จาก 35 โครงการ ราคาขายต่อตารางเมตรประมาณ 93,600 บาท สำหรับโครงการเก่า และ 138,000 บาท สำหรับโครงการใหม่ ซึ่งถูกกว่าคอนโดมิเนียมในตัวเมืองอย่าง เพลินจิต-ชิดลม สีลม-สาทร ประมาณ 51% และ พื้นที่รอบตัวเมือง เช่น พระราม9-เพชรบุรี-อโศก ราชเทวี และพญาไท ประมาณ 29% และแม้ว่ามียูนิตเหลือขายในพื้นที่มีมากถึง 2,910 ยูนิต แต่ยูนิตเหลือขายมีทิศทางปรับตัวลง แสดงให้เห็นว่าไม่ได้อยู่ในภาวะ Oversupply เมื่อเทียบกับสถานการณ์ของคอนโดมีเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง
“คอนโดมิเนียมในพื้นที่รัชโยธินเหมาะกับการอยู่อาศัยจริง แต่สำหรับการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนซื้อกับราคาขายต่อ (Capital Gain) และผลตอบแทนจากการปล่อยเช่า (Rental Yield) ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก โดยการซื้อคอนโดมิเนียมในพื้นที่รัชโยธิน เพื่อปล่อยเช่าเป็นระยะเวลา 10 ปี ก่อนขายในปีสุดท้าย จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 3.2% ต่อปี ใกล้เคียงกับคอนโดมีเนียมย่านรัชดา-พระราม 9-อโศก แต่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ในตัวเมือง เช่น เพลินจิต-ชิดลม ให้ผลตอบแทน 6.6% ต่อปี สีลม-สาทร ให้ผลตอบแทน 5.4% ต่อปี และสุขุมวิทช่วงต้น-กลาง ผลตอบแทน 4.8% ต่อปี” นายกณิศ กล่าว
>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews