Phones





BAM เปิดแผนธุรกิจปี 67 ลุยขยายพอร์ตสินทรัพย์ 7 หมื่นล.

2024-02-05 19:04:38 399



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - BAM ประกาศกลยุทธ์ปี 67 เดินหน้าขยายธุรกิจเดิม พร้อมหาโอกาสลุยธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าหมายสร้างผลเรียกเก็บ 2 หมื่นล้านบาท พร้อมเร่งขยายฐานสินทรัพย์เพิ่มอีก 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีนี้ตั้งงบไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการเข้าซื้อหนี้ เล็งแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 3 พันล้านบาท
 
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลางในปี 2569 อยู่ที่ 23,300 ล้านบาท ในขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์ และโอกาสทางธุรกิจของบริษัท โดยปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารแบ่งเป็น NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และ NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท
 
ขณะที่ในปีนี้บริษัทเตรียมเงินที่จะใช้ซื้อหนี้เข้ามาบริหารไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่หากในปีนี้มีหนี้ออกมาขายในตลาดมากกว่าที่คาดไว้บริษัทก็พร้อมจะจัดสรรเงินลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเงินลงทุนจะมาจากทั้งกระแสเงินสดของบริษัท, วงเงินจากสถาบันการเงิน รวมไปถึงการออกหุ้นกู้ โดยในเดือนมี.ค.นี้บริษัทจะออกหุ้นกู้วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยหุ้นกู้ชุดเก่า และนำเงินมาขยายธุรกิจ ซึ่งในปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5,900 ล้านบาท
 
“เป้าปีนี้ถือว่าท้าทายมาก ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ความไม่แน่นอนของต่างประเทศ ซึ่งปลายปีก่อนแบงก์เอกชน แบงก์รัฐ เก็บหนี้ไว้กับตัว 5 หมื่นล้านบาท ที่ขายไม่ได้ เพราะราคาต่ำเกินไป ราคาที่เขาอยากได้สูงกว่านี้ และไม่มีคนเข้ามาประมูล โดยม.ค. 67 เรากำลังเข้าไปตรวจทรัพย์ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนี้เงินต้น” นายบัณฑิต กล่าว
 
สำหรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่บริษัทวางไว้ ได้แก่ การขยายธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้นจะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว
 
ขณะที่การดำเนินธุรกิจใหม่วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้วยการพัฒนาระบบด้านการสำรวจ และ ประเมินราคาทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม และ ยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ
 
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอน และระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
 
ส่วนความคืบหน้าแผนการจัดตั้ง AMC นั้น ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปแล้ว โดยหากธปท.อนุมัติ บริษัทก็สามารถดำเนินการจัดตั้ง AMC ได้ทันที