Phones





กรุงไทยชี้ เทคโนโลยี AI หนุนไทยสู่ Medical Hub

2024-04-05 20:31:47 60



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ เทคโนโลยี AI เป็นจิกซอว์สำคัญช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยก้าวหน้า และผลักดันไทยบรรลุเป้าหมายการเป็น Medical Hub คาดช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้น 5.6 หมื่นล้านบาท แนะภาครัฐและเอกชนผสานความร่วมมือเร่งสนับสนุนการลงทุน วิจัย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI
 
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า นโยบาย Medical Hub ถูกหยิบยกให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ที่เป็น 1 ใน 13 หมุดหมายสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)
 
ทั้งนี้ การยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Medical Hub และศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูงแถวหน้าของเอเชีย ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันจากหลายประเทศทั่วโลก และกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี ทำให้ไทยจำเป็นต้องมีการ upgrade วิวัฒนาการใหม่ ทันโลก ทันสมัย โดยมุ่งไปสู่การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ เนื่องจากเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยติดปีกให้เกิดการแพทย์มูลค่าสูงทั้งใน “อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และที่สำคัญคือการบริการทางการแพทย์” ที่เป็นจุดเด่นสำคัญและไทยมีความพร้อมมากที่สุด
 
“อุตสาหกรรมการแพทย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท การยกระดับและสนับสนุนการใช้ AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในระยะยาว และสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก ที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 30-40% แตะระดับ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้านี้” ดร.พชรพจน์ กล่าว
 
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสของ “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI” มาแรงอย่างมาก และกลายเป็นอีกก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้พูดถึงและเริ่มนำ AI มาใช้ในองค์กรมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้แก่ 1.การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์, 2.ความต้องการด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, 3.ข้อมูลด้านสุขภาพที่มีมากขึ้น, 4.ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นต่อเนื่อง และ 5.การเติบโตและความก้าวหน้าของการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ
 
ทั้งนี้ มองว่าเทคโนโลยี AI จะเป็นจิกซอว์สำคัญที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จะเข้ามาช่วยต่อยอดและผลักดันให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้
ด้านนางสาวสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า 5 เทรนด์เทคโนโลยี AI ด้านการแพทย์ที่น่าจับตามอง ที่จะเข้ามาเสริมทัพให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยรุดหน้าทัดเทียมนานาชาติ ได้แก่ 1.Robot Assisted Surgery หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, 2.Virtual Nursing Assistants หรือผู้ช่วยพยาบาลเสมือนจริง, 3.AI ช่วยวินิจฉัยโรค, 4.AI in Drug discovery หรือการใช้ AI ในการค้นคว้าและพัฒนายารักษาโรค และ 5. Hospital Workflow Management หรือการนำ AI มาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งทั้ง 5 เทรนด์ ดังกล่าว จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ในหลายมิติ
 
นอกจากนี้ ประเมินว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรวม เนื่องจากในปัจจุบันการนำ AI มาใช้ในองค์กรของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก คาดว่า มูลค่าตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 353 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ และจะช่วยสร้างมูลค่าลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีจากนี้ (2567-2577) ถึง 1,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม การยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี AI ของไทยจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการลงทุน การสอดประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้าน AI และด้านการแพทย์ ควบคู่กับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทรัพยากร และเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างบูรณาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem