นิวส์ คอนเน็คท์ - กทท.เตรียมชงบอร์ด ก.พ.นี้ อนุมัติแผนพัฒนาท่าเรือระนองเป็นประตูการค้า-การขนส่ง เชื่อมโยงประเทศในกลุ่มบิมสเทค เพิ่มขีดความให้รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 3 แสนตู้ต่อปี กรอบวงเงิน 5,465 ล้านบาท
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.มีแผนพัฒนาท่าเรือระนอง โดยการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเรือและลานวางตู้ส้นค้าให้เพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 3 แสนตู้ต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 7.8 หมื่นตู้ต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สายงานบริหารสินทรัพย์ของ กทท.ไปประสานงานกับสายการเดินเรือจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการเชื่อมต่อไปยังท่าเรือใกล้เคียง อาทิ ท่าเรือจิตตะกอง ของบังคลาเทศ ท่าเรือเชนไน ของอินเดีย และท่าเรือฮัมบันทอตาของศรีลังกา ขณะเดียวกันยังได้รับข้อมูลว่าสายการเดินเรือจากจีนให้ความสนใจจะเข้ามาใช้บริการเช่นกัน
โดยการปรับปรุงท่าเรือนั้น อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ในเดือนก.พ.นี้ เพื่อพิจารณารูปแบบการดำเนินงานว่าควรจะเป็นแบบให้เอกชนเข้ามาประมูลบริหารจัดการ หรือการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (พีพีพี) ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากบอร์ด กทท.เห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนได้ จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบ จัดทำเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก่อนจะเปิดประมูลได้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือระนองนั้นเพื่อยกระดับการบริการของท่าเรือระนองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เป็นประตูการค้า การขนส่งเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม BIMSTEC หรือบิมสเทค ที่มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏาน ตามนโยบายของนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เร่งรัดแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมเข้าสู่ท่าเรือระนองให้เร็วขึ้นกว่าแผนที่กำหนดไว้
แหล่งข่าวจาก กทท.กล่าวว่า กทท.มีแผนพัฒนาท่าเรือระนองระยะแรกวงเงิน 30 ล้านบาทในการปรับปรุงและซ่อมแซมท่าเทียบเรือเดิม 2 แห่ง ให้รองรับตู้สินค้าได้ 2.5 แสนตู้ต่อปี ขณะที่ระยะยาว มีแผนก่อสร้างท่าเทียบเรือ 3 ขนาดยาว 180 ม. กว้าง 30 ม. วงเงิน 5,465 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นเตรียมการเสนอรัฐบาล เพื่อหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินการ พร้อมกันนี้ จะขยายหน้าท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือ ได้แก่ ท่าเทียบเรือที่ 1 ขยายขีดความสามารถรองรับเรือจากขนาด 1,000 เดทเวทตัน เป็นขนาด12,000 เดทเวทตัน และท่าเทียบเรือที่ 2 ขยายขีดความสามารถรองรับเรือจากขนาด 12,000 เดทเวทตัน เป็นขนาด 22,000 เดทเวทตัน
>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews