Phones





“สนธิรัตน์”คลอด4แผนหลักพลังงาน18ก.พ.นี้

2020-02-14 17:19:10 1010




นิวส์ คอนเน็คท์ - “สนธิรัตน์” ชี้ 18 ก.พ.นี้ สนพ.เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็น 4 แผนหลักด้านพลังงานที่ครอบคลุมนโยบาย โรงไฟฟ้าชุมชน เร่งแผนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการการนำเข้า LNG ยกระดับไทยเป็นฮับ


เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะจัดรับฟังความคิดเห็นแผนหลักด้านพลังงานที่แล้วเสร็จก่อน 4 แผนจากทั้งหมด 5 แผน ประกอบด้วยแผนการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว พีดีพี 2018 (ปี 2561-2580 ) ,แผนก๊าซธรรมชาติ (GAS PLAN 2018 ),แผนอนุรักษ์พลังงาน ( EEP 2018) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018 )


โดยทั้ง 4 แผนนั้นครอบคลุมนโยบาย โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรก่งต่อเศรษฐกิจฐานราก โดยแผนหลักยังยึดความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาที่เป็นธรรม ส่วนแผนหลักด้านพลังงานที่เหลืออีก 1 แผนนั้นคือแผนน้ำมันที่อยู่ระหว่างทบทวนยังทำไม่เสร็จ เนื่องจากมีการปรับตัวเลขหลังประกาศนโยบายให้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ


อย่างไรก็ตามแหล่งข่าววงการพลังงาน กล่าวว่า 4 แผนหลักด้านพลังงานที่จะจัดรับความคิดเห็นนั้นจะนำเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนที่ตลอดแผน 20 ปีจะมีราว 1,900 เมกะวัตต์มารวมด้วย จากแผนระยะที่ 1 ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน แต่ก็ทำให้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นทั้งแผนราว 10 สตางคค์ต่อหน่วย จากแผนเดิม ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.59 บาทต่อหน่วย

สัดส่วนของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลักเพิ่มขึ้นจากพีดีพี 2015 ที่มีสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าราว 37% จะเพิ่มเป็น 53% ในแผนพีดีพี 2018 ที่จะปรับปรุงใหม่ อย่างไรก็ตามจากการประเมินเมื่อสิ้นแผนพีดีพีในปลายปี 80 ความต้องการก๊าซฯของประเทศอยู่ที่ราว 5,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มจากปี 61 ที่อยู่ที่ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


ทั้งนี้การประมูลแหล่ง "บงกช-เอราวัณ" เสร็จสิ้นทำให้กำลังผลิตก๊าซฯจาก 2 แหล่งนี้อยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพี 2015 ก็ทำให้คาดการณ์ว่าการนำเข้า LNG จะลดลงจาก 34 ล้านตันต่อปี เหลือ 26 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณนำเข้าอาจลดลงอีกหากไทยมีการเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมมือในการผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันสำเร็จ


นอกจากนี้ ในการนำเข้า LNG จะวางแผนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการนำเข้า ประกอบไปด้วย สถานนีนำเข้าแอลเอ็นจีมาบตาพุด 11.5 ล้านตัน (ก่อสร้างเสร็จแล้ว ) ,สถานีหนองแฟบ 7.5 ล้านตัน (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ) , โครงการที่อยู่ในแผน อีก 2 แห่งได้แก่ สถานีรับจ่ายก๊าซลอยน้ำ (FSRU ) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 5 ล้านตัน และ สถานีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมทั้งจะมีการสร้างสถานีนำเข้า LNG แห่งใหม่ในภาคใต้อีก 5 ล้านตัน เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า สถานีนำเข้า LNG นั้นจะมีมากกว่าความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ ดังนั้น ตามนโยบายจึงอยู่ระหว่างการวางแผนจะมีการนำเข้า เพื่อการส่งออก LNG ตามนโยบายศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาค (LNG ฮับ)


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews