Phones





GLOCON ปรับหมากธุรกิจ หนุนผลงานเทิร์นอะราวด์

2024-09-05 17:59:32 235



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – GLOCON เดินหน้าปรับกลยุทธ์ธุรกิจหลักในกลุ่ม พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หนุนผลงานปี 67 เริ่มกลับมาเทิร์นอะราวด์ พร้อมตั้งเป้ายอดขายปี 68 พุ่งทะลุ 2.6 พันล้านบาท
 
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของธุรกิจในเครือของบริษัท ที่มีกลุ่มธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1. ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน ที่มีแบรนด์เด่นคือ ลูกชิ้นทิพย์ 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ และ 3. ธุรกิจการผลิตและพัฒนานวัตกรรมอาหาร เริ่มฟื้นตัวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 9.2 ล้านบาท หลังจากได้ทำการปรับโครงสร้างธุรกิจและขจัดส่วนที่เป็นต้นเหตุของการขาดทุน
 
โดยกลุ่มธุรกิจแรกคือธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน ที่มีแบรนด์ ลูกชิ้นทิพย์ ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภค ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้สามารถพลิกกลับมามีกำไร ขณะที่บริษัทยังสามารถลดการสูญเสีย (waste) ในการผลิตและขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง บริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่หนึ่งในตลาด เพื่อสร้างรายได้และตั้งเป้าหมายในการทำกำไรที่ 40 ล้านบาทภายในปี 2567 พร้อมเติบโตปีละ 10%
 
สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ก็ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ทางบริษัทได้พัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยใช้วัสดุที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและควบคุมต้นทุนการผลิต ทำให้กลุ่มนี้มียอดขายที่ดีขึ้น บริษัทตั้งเป้าสร้างรายได้จากธุรกิจนี้ราว 1 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 11% ของรายได้รวม ในส่วนของธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายผลไม้อบแห้งยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย การจัดการที่มีประสิทธิภาพช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเป็นระบบ
 
ทั้งนี้ปัจจุบัน บริษัทให้ความสำคัญต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นอันดับสูงสุด และจะส่งผลทางตรงต่อคุณภาพของอัตรากำไรสุทธิมากกว่าปริมาณการขาย โดยบริษัทมั่นใจว่าทุกกลุ่มธุรกิจจะกลับมาเติบโตและมีกำไรอย่างต่อเนื่องภายในปี 2568  โดยตั้งเป้ายอดขายรวมที่ 180 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2567 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 220 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2568