Phones





AOT คาดปี 68 จำนวนผู้โดยสารแตะ 129.97 ล้านคน

2024-11-22 16:38:16 76



นิวส์ คอนเน็คท์ - AOT คาดปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 68 (ต.ค. 67 - ก.ย. 68) จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% และคาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% จากปีก่อน พร้อมจัดที่จอดรถฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ ตั้งงบลงทุน 5 ปี (68-72) ประมาณ 2 แสนล้านบาท ใช้ลงทุนขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของการเดินทาง และจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 22 พพฤศจิกายน 2567 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ประมาณการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - กันยายน 2568) คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02%

ทั้งนี้จากประมาณการณ์การจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2568 จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้โดยสารฟื้นตัวใกล้เคียงกับปริมาณผู้โดยสารช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 คาดว่าระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 4 มกราคม 2568 จะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่ง ประมาณ 2.86 ล้านคน ฟื้นตัว 92.9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (29 ธันวาคม 2562 - 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 1.83 ล้านคน ฟื้นตัว 95.3% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 1.03 ล้านคน ฟื้นตัว 88.8% 

ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 17,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 97.5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (29 ธันวาคม 2562 - 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 10,370 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 102% หรือฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 7,040 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 91.6%

ดังนั้น AOT มีความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านท่าอากาศยานอย่างเต็มที่ ด้วยการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition สำหรับระบุตัวตนของผู้โดยสารจะมีความพร้อมสมบูรณ์ในการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้โดยสารทุกท่าน ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ โดยผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลก่อน ซึ่งระบบ Biometric จะทำให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็ว ตั้งแต่ขั้นตอนการโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป (ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น)

นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 AOT ยังได้จัดที่จอดรถฟรี ณ ทสภ. ทดม. ทภก.และ ทหญ. โดยที่ ทสภ.สามารถจอดรถฟรีได้บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน C ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม 2568 ในส่วนของ ทดม.ได้จัดพื้นที่จอดรถฟรีบริเวณพื้นที่ลานจอดระหว่างอาคารคลังสินค้า 2 และอาคารจอดรถยนต์ 5 ชั้น ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม 2568 โดย ทสภ.และ ทดม.ได้จัดรถรับ - ส่งผู้โดยสารระหว่างที่จอดรถยนต์กับอาคารผู้โดยสาร และที่ ทภก.สามารถจอดรถฟรีได้บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน ทภก. ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 23.59 น.ของวันที่ 1 มกราคม 2568 และที่ ทหญ.จัดพื้นที่จอดรถฟรีบริเวณสนามฟุตบอล ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2568

ด้านการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ AOT ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการ ได้แก่ เพิ่มความถี่ในการจัดรถเข็นกระเป๋า การทำความสะอาดห้องน้ำ เพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บริหารจัดการจราจรทั้งภาคพื้นและพื้นที่การบิน (Landside & Airside) ในช่วงชั่วโมงคับคั่ง (Peak Hour) บริหารจัดการสายพานลำเลียงกระเป๋า จัดเจ้าหน้าที่ Airport Help ช่วยดูแลเรื่องการจัดแถวของผู้โดยสารในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงให้คำแนะนำการใช้งานเครื่องเช็กอินอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) เครื่อง CUBD และเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automated Border Control: ABC) การตรวจสภาพรถรับจ้างสาธารณะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ การจัดเตรียมรถแท็กซี่สาธารณะ เพิ่มความถี่รถโดยสารสาธารณะและการดูแลการจราจรทางอากาศ รวมทั้งจัดอัตรากำลังพลให้เพียงพอเพื่อดูแลผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

สำหรับแผนการลงทุนในระยะ 5 ปี (68-72) ตั้งงบลงทุนรวมไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนหลักจะใช้ลงทุนขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของการเดินทาง และจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตามแผนงานโครงการลงทุนที่สำคัญดังนี้ 1. โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ของสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท 2. โครงการพัฒนาอาคารรับรองผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) พร้อมการปรับปรุงพื้นที่ภายในทั้งหมดของสนามบินดอนเมือง มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท 3. โครงการปรับปรุงสนามบินภูเก็ต มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท และ 4. โครงการลงทุนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 ((ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 19,182.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,391.52 ล้านบาท คิดเป็น 118.21% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้รวม 67,827.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.01% จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 18,980.38 ล้านบาท คิดเป็น 39.43% แบ่งเป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบินมีจํานวน 31,000.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,734.64 ล้านบาท คิดเป็น 39.23% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 36,120.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,245.74 ล้านบาท คิดเป็น 39.60% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 40,524.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,276.70 ล้านบาท หรือ 18.33% ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้รวมทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานลดลงจาก 70.08% ในปีก่อนเป็น 59.71% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของ AOT