Phones





"สุริยะ" คุมเข้มรถโดยสาร จัดมาตรการการครอบคลุม 4 มิติ 3 ระยะ

2024-11-22 16:43:39 108



นิวส์ คอนเน็คท์ - "สุริยะ" ลงพื้นที่ติดตาม - ตรวจสอบสภาพรถโดยสาร พร้อมจัดมาตรการการป้องกัน ครอบคลุม 4 มิติ 3 ระยะ สั่ง ขบ. คุมเข้มสภาพรถ ยึดมาตรฐาน UN จัดระดับชั้นรถโดยสาร เน้นย้ำ! คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด

เมื่อวันที่ 22 พพฤศจิกายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความสูญเสียกรณีรถโดยสารสาธารณะพาคณะครูและนักเรียนไปทัศนศึกษาเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีครูและนักเรียนเสียชีวิตจำนวน 23 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง โดยขณะนี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมี นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยอันส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ อันจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการเชิงป้องกัน และแนวทางปฏิบัติในเชิงวิชาการของหน่วยงาน และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้รายงานข้อสรุปถึงมาตรการ “ความปลอดภัยของสาธารณะนั้น ไม่สามารถต่อรองได้” เรียบร้อยแล้ว โดยภาพรวมนั้นเพื่อให้การบริการรถโดยสารสาธารณะของประเทศไทยมีความปลอดภัยสูงสุด

โดยจากการตรวจสอบและสังเกตการณ์ในวันนี้ (22 พฤศจิกายน 2567) ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พบว่ามีความเรียบร้อย พร้อมกับให้ทาง ขบ. เร่งดำเนินการตามมาตรการ โดยระยะสั้นนั้นต้องให้รถที่ใช้ CNG ทุกคันเข้ามาตรวจสภาพทั้งหมดโดยเร็วที่สุด

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้รายงานว่า รถโดยสารที่ใช้ระบบ CNG มีทั้งหมด 13,426 คัน โดยขณะนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบและเช็กสภาพความเรียบร้อยแล้ว 7,484 คัน ขณะที่มีผู้ประกอบการมารายงานตัว แจ้งหยุดใช้รถ 1,531 คัน ดังนั้นล่าสุดคงเหลือรถที่ยังไม่เข้ารับการตรวจสภาพ จำนวน 4,411 คัน คิดเป็น 33% ของทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 จะดำเนินการตรวจสภาพและเช็กระบบเสร็จทั้งหมด พร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการต่อไปได้ทันที เพื่อมุ่งหวังให้การเดินทางของประชาชนมีความปลอดภัยในระดับสูงสุด ทั้งนี้ หากรถถูกพ่นห้ามใช้จะมีหนังสือให้แก้ไขภายใน 15 วัน หากไม่นำรถเข้าตรวจภายใน 15 วัน จะถูกปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากไม่นำรถเข้าตรวจภายในกำหนดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 จะไม่สามารถนำรถไปให้บริการสาธารณะได้ รวมถึงมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจะมีหนังสือให้นำรถมาตรวจภายใน 15 วัน หากยังไม่นำรถเข้าตรวจภายใน 15 วัน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และถอนรถออกจากใบอนุญาต หากฝ่าฝืนนำรถถูกถอนไปใช้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ประชาชนตรวจสอบรถโดยสาร CNG ที่ผ่านการตรวจสภาพได้ที่เว็บไซต์ https://web.dlt.go.th/recall/web/ หรือสแกนผ่าน QR Code ที่สติกเกอร์ผ่านการตรวจสภาพที่หน้ารถโดยสาร

ด้านนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เผยต่อว่า จากการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ โดยขณะนี้ได้สรุปมาตรการการป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะได้เป็น 4 มิติและ 3 ระยะ (เร่งด่วน / ระยะกลาง / ระยะยาว) การแก้ไขปัญหาทั้งหมด ดังนี้ 

1) การแก้ไขปัญหามิติยานพาหนะสำหรับรถโดยสารสาธารณะรวมทั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย โดยจะห้ามใช้รถโดยสารสาธารณะที่ใช้ CNG/LPG รับส่งเด็กหรือนักเรียนเป็นการชั่วคราวจนกว่า ขบ. จะมีมาตรการ ที่ยืนยันได้ว่าปลอดภัย พร้อมกับให้ ขบ. จัดทำระบบ Safety Rating List สำหรับรถโดยสาร แบ่งเป็น White /Silver /Gold พร้อมทั้งจัดทำ Black list สำหรับรถโดยสารสาธารณะมีสภาพความปลอดภัยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเลือกใช้บริการ และมอบหมายให้ ขบ. เพิ่มข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์สำหรับรถโดยสารสาธารณะที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล UN Regulations จำนวนไม่น้อยกว่า 5 รายการ ที่เป็นปัจจัยไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ คือ 1) ระบบก๊าซเชื้อเพลิง 2) ระบบห้ามล้อมือและห้ามล้อเท้า 3) ระบบล้อและยาง 4) ระบบฉุกเฉิน 5) ระบบการทรงตัว หากตรวจผ่านจะถือว่าได้ White List หากตรวจไม่ผ่าน ให้ ขบ. มีคำสั่งห้ามใช้รถทันที 

ส่วนสภาพความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังรถและคัสซีต้องมีความปลอดภัย หากตรวจพบว่าไม่ปลอดภัยจะห้ามใช้ทันที และห้ามจดทะเบียนรถโดยสารสาธารณะใหม่หากพบว่ามีการดัดแปลงคัสซี ขณะเดียวกัน ขบ. ต้องกำหนดให้มีการยื่นแบบรถโดยสารสาธารณะเพื่ออนุมัติก่อนการประกอบ หรือดัดแปลง รวมทั้ง ต้องมีการตรวจสอบการประกอบ หรือดัดแปลงรถโดยสารสาธารณะในทุกขั้นตอน และเพิ่มเติมข้อกำหนดตามมาตรฐานสากล UN Regulations จำนวน 30 รายการ เช่น ระบบห้ามล้อแบบ ABS ,ระบบอุปกรณ์มองภาพ (กระจกเงามองข้าง) ระบบมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสาร เป็นต้น หากตรวจผ่านจะถือว่าได้ Silver List พร้อมกับให้จัดทำแบบแนะนำ (Vehicle Prototype) สำหรับรถโดยสารสาธารณะแต่ละประเภท เช่น รถโดยสารสำหรับนักเรียน รถโดยสารสำหรับการท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการประกอบ รวมถึงเพิ่มข้อกำหนดตามมาตรฐานสากล UN Regulations จำนวน 50 รายการ เช่น ระบบห้ามล้อแบบ AEBS ระบบอุปกรณ์ควบคุมความเร็ว หากตรวจผ่านจะถือว่าได้ Gold List 

ด้านที่ 2) การแก้ไขปัญหามิติด้านการบังคับใช้กฎหมายและการสื่อสาร โดยจะให้เพิ่มการสุ่มตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะในขณะที่มีการนำรถไปใช้งาน และมีการจัด Workshop อบรมเจ้าพนักงานตรวจสภาพรถ เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดในการตรวจสอบอย่างเข้มงวด 3) การแก้ไขปัญหามิติผู้ขับขี่และพนักงานประจำรถ โดยกรณีที่จะต้องมีการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในระยะทางไกล จะต้องมีผู้ขับขี่อย่างน้อย 2 คน และหากเป็นกรณีรถรับส่งเด็ก หรือนักเรียน ต้องจัดให้มีพนักงานประจำรถอย่างน้อย 1 คน พร้อมกับ กำหนดให้ผู้ขับขี่และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ ชี้แจงข้อมูลการปฏิบัติตัวและวิธีการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ติดตั้งในตัวรถ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทุกครั้งก่อนการเดินทาง

สำหรับมาตรการด้านที่ 4) การแก้ไขปัญหามิติสนับสนุนเชิงนโยบาย ซึ่งจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ พร้อมทั้งประสานงานกับกรมธุรกิจพลังงานภายใต้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับพลังงานที่จะส่งเสริมใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถโดยสารสาธารณะและกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ประดับยนต์ที่มีความปลอดภัย พร้อมทั้งให้จัดทำรถโดยสารสาธารณะต้นแบบให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2568 เพื่อยกระดับความปลอดภัยของการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอย่างยั่งยืน