Phones





CHAYO รุกซื้อหนี้เติมพอร์ต อัพผลงานโตเกิน 20%

2024-11-28 20:33:01 115



CHAYO รุกซื้อหนี้เติมพอร์ต อัพผลงานโตเกิน 20% (สกู๊ปพิเศษ)
หากพูดถึงสุดยอดนักบริหารหนี้เสียในประเทศไทย คงต้องยกเครดิตให้ "บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO" ซึ่งถือได้ว่ามีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้เสีย ทั้งหนี้ที่มีหลักประกัน และหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 

ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2567 บริษัทฯ ได้มีการประกาศพร้อมเดินหน้านโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือประชาชน เพื่อสนองนโยบายภาครัฐในการช่วยแก้ปัญหาหนี้ของประเทศ เพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยกลุ่มบริษัทฯ มุ่งเน้นการวางแผนผ่อนชำระให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย เช่นเดียวกับธุรกิจบริการเร่งรัดติดตามหนี้สิน และ Call Center ที่ยังสามารถติดตามลูกหนี้เพื่อนำเข้าสู่การเจรจา ปรับโครงสร้างหนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณี และกำหนดวงเงินผ่อนชำระขั้นต่ำให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้เป็นหลัก

0 เป้ารายได้โตไม่ต่ำกว่า 20%
ด้านการสร้างการเติบโตนั้น บิ๊กบอส "สุขสันต์ ยศะสินธุ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO ได้ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,527.07 ล้านบาท จากแผนเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้ง NPL และ NPA มาบริหารอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าซื้อหนี้เสียเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุน 500 - 1,000 ล้านบาท โดยช่วงไตรมาส 3 - 4 จะเป็นฤดูกาลไฮซีซั่นของธุรกิจ เพราะจะมีมูลหนี้ที่ทางสถาบันการเงินเปิดประมูลออกมาจำนวนมากกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ราคาไม่สูงนัก และสิ่งที่บริษัทยังเน้นเสมอในการซื้อหนี้ใหม่เพื่อเติมพอร์ต นั่นคือ ต้องมีช่วงระดับราคาที่มีความเหมาะสมและไม่แพงเกินไป เพราะไม่อยากให้กลุ่มลูกหนี้มีภาระทางการเงินเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือในอีกรูปแบบหนึ่ง 

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้ 1,498.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ซึ่งบริษัทมียอดจัดเก็บจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและยอดรายได้จากการขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพ จำนวน 572.01 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีการซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อ จำนวน 113.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 มียอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืมอยู่ที่ 1,051.89 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 861.66 ล้านบาท

0 โบรกฯ ให้ราคาเป้าหมาย 4.30 บ./หุ้น

ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มของ CHAYO ระบุว่า CHAYO รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 จำนวน 100 ล้านบาท เติบโต 32.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ดีกว่าที่หยวนต้าและตลาดคาดว่าจะเติบโต 14.9% จากไตรมาสก่อน และ 19.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกหลักมาจากรายได้จากธุรกิจบริหารจัดการหนี้เสีย ที่ปรับตัวขึ้น 41.6% หลังมีอัตราการจัดเก็บเงินสดจากลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งจากการรับรู้รายได้ของหนี้เสียกองใหม่ที่ทยอยประมูลเพิ่มเข้ามา และเป็นผลจากมาตรการรัฐฯ ที่มีการอัดฉีดเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางกว่า 14.5 ล้านคนทั่วประเทศ ช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ฟื้นตัวขึ้น ส่วนยอดขาย NPA ลดลง 67.2% เพราะธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับอสังหาฯ มือสอง

ด้านค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยแม้เพิ่มขึ้น 19.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 3.6% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังบริษัทมีการชำระหุ้นกู้ก่อนกำหนด เพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ส่วนการตั้งสำรอง (Expected Credit Loss) ขยับขึ้น 50.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการตั้งสำรองสำหรับหนี้เสียภายใต้การบริหารที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มองว่า กำไรปกติช่วง 9 เดือนของปี 67 ของ CHAYO คิดเป็น 75% ของประมาณการทั้งปี และยังคงประมาณการเดิม โดยเบื้องต้น คาดแนวโน้มกำไรสุทธิไตมาส 4/67 จะลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนจาก 1.) รายได้จากธุรกิจบริหารจัดการหนี้เสียที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้จากการบริหารหนี้เสียกองใหม่ที่ประมูลเพิ่มมาใน Q3/67 มูลหนี้รวมราว 1,000 ล้านบาท, 2.) ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง จากการชำระหนี้หุ้นกู้ก่อนครบกำหนดเพื่อบริหารต้นทุนทางการเงิน และ 3.) คาดจะมีกำไรจากการขาย NPA เข้ามาช่วยเสริมราว 20 ล้านบาท (ที่ดินบริเวณคู้บอน) หนุนให้คาดว่า CHAYO จะมีกำไรปกติปี 2567 จำนวน 410 ล้านบาท โต 4.7% เทียบปีก่อน และคาดโตต่อ 10.9% ในปี 2568

ส่วนเรื่องของราคาหุ้นมองว่าราคาหุ้น CHAYO ยังอยู่ในระดับที่ Under perform แต่ด้วยแนวโน้มกำไรสุทธิที่เริ่มเร่งตัวขึ้น คาดช่วยให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 37.8% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2568 เดิมที่ 4.30 บาท (อิง PBV ที่ 1x) จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”