Phones





Stem Cell คืออะไร? ทำไมถึงเป็นความหวัง และแนวทางการดูแลรักษาแห่งอนาคต

2024-12-04 17:38:03 190



สเต็มเซลล์ (Stem Cell) คือ เซลล์ต้นกำเนิดที่มีความสามารถแบ่งตัวได้อยู่เสมออย่างไม่จำกัด โดยสามารถพัฒนาเป็นเซลล์อื่น ๆ ได้ เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์เม็ดเลือด เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เซลล์กระดูก และเซลล์ไขมันได้ตามแหล่งต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อมาทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพ หรือถูกทำลาย เนื่องจากสเต็มเซลล์นั้นมีกลไกที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้พัฒนาเป็นเซลล์ต่าง ๆ เพื่อเข้าไปทดแทนที่เซลล์ที่สูญเสียไปให้กลับมาทำหน้าที่ภายในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลายคนคงมีความคิดว่าเซลล์ต้นกำเนิดจะต้องนำมาจากเซลล์ตัวอ่อนเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากในร่างกายคนเราก็สามารถพบเซลล์ต้นกำเนิดได้เช่นกัน โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งแหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิดได้ 3 แหล่งคือ จากเซลล์ตัวอ่อน ระยะ ‘เอ็มบริโอ’ ขณะอยู่ในครรภ์ (embryonic stem cell), จากเซลล์ทารก ระยะ ‘ฟีตัส’ ขณะอยู่ในครรภ์ (fetal stem cell) และจากเซลล์ของอวัยวะในร่างกายของเรา (adult stem cell)

ซึ่งในร่างกายของเรามีเซลล์ต้นกำเนิดอยู่ภายในไขกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นต่าง ๆ เช่น เซลล์ไขมัน สมอง และกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถนำมาเพาะเลี้ยงเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อใช้งานได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการศึกษาทดลองอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความยากในการเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดให้มีชีวิตรอดนั้นจำเป็นต้องอาศัย สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องดูแลอย่างเข้มงวดทุกกระบวนการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิทธิมนุษยชน และจริยธรรมทางการวิจัยมากำกับควบคุมอีกด้วย

จากต้นกำเนิด Stem Cell จนถึงภาพรวมในปัจจุบัน

โดยเซลล์ต้นกำเนิดถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1981 โดย Martin John Evans นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด จากเซลล์ตัวอ่อนของหนูได้เป็นผลสำเร็จ ต่อจากนั้นจึงประสบความสำเร็จในการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดในครั้งแรกในคนเมื่อ ปีค.ศ.1998 โดยใช้เซลล์ของตัวอ่อนของคนที่อยู่ในระยะบลาสโตซีสต์ หรือ blastocysts คือตัวอ่อนของคนที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ประมาณ 5 วัน หลังจากนั้นไม่นานโลกก็ได้พบจุดเปลี่ยนในวงการวิทยาศาสตร์ จากการโคลนนิ่ง (cloning) สัตว์ทดลองตัวแรกสำเร็จ ที่สถาบัน Roslin เมือง Edinburgh ประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลกในนามของ “แกะดอลลี่” นั่นเอง หลังจากนั้นการศึกษาเกี่ยวกับ เซลล์ต้นกำเนิด ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยความซับซ้อนของเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ ทำให้การพัฒนายังไม่ได้ผลก้าวหน้าอย่างที่คาดไว้

โดยในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ เช่น เทคโนโลยี่ที่ตั้งโปรแกรมให้กับเซลล์ต้นกำเนิดของอวัยวะในร่างกายที่โตเต็มที่ (adult stem cell) ให้กลับมาทำหน้าที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดเริ่มแรกอีกครั้ง (Reprogramming) หรือเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายนิวเคลียส (Nuclear transfer) หรือโคลนนิ่ง (cloning) เพื่อที่จะได้ใช้เซลล์ของผู้ป่วยเองมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย หรือการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดให้กลายเป็นอวัยวะก่อน แล้วจึงนำไปปลูกถ่ายคืนในตัวผู้ป่วย (tissue engineering) และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังรอการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป แต่เนื่องจากจำนวนอวัยวะจากผู้บริจาคนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงให้เป็นอวัยวะที่ต้องการ (organ-level tissue engineering) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการค้นคว้าในห้องทดลอง เพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยได้จริงในอนาคต ในปัจจุบันเซลล์ต้นกำเนิดถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ใน 3 รูปแบบดังนี้

- นำเซลล์ต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงเป็นอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อก่อน แล้วจึงนำกลับมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย (Organ/Tissues Transplantation) เช่น การนำเซลล์ต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงเป็นเส้นประสาทแล้วค่อยปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease)

- การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคโดยตรง (Cell-based approach) เช่น การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปที่กล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วยโดยตรง หรือฉีดเข้ากระแสเลือด เพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจ

- การฉีด สารกระตุ้นเพื่อให้ เซลล์ต้นกำเนิดที่มีอยู่เดิมในร่างกายทำงานมากขึ้น (Endogenous stem cell) เช่น การฉีดฮอร์โมน Erythropoietin เข้าไปใน ร่างกาย เพื่อกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ในไขกระดูก ให้เปลี่ยนเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจาง

ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดสามารถนำมารักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือด และอื่น ๆ ได้มากกว่า 85 โรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดทุกชนิด อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซิเมีย ความผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคจากความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดแดง โรคจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร เป็นต้น ส่วนการให้การยอบรับ หรือมีการอนุญาตในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่าง ๆ ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับทางการแพทย์ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความสำเร็จในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยในการนำเซลล์ต้นกำเนิดมารักษาโรคต่าง ๆ ในมนุษย์

ทั่วโลกยังคงตื่นตัว อุตสาหกรรม Stem Cell ยังคงเติบโต

ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญ และตื่นตัวกับการจัดเก็บ และใช้เสต็มเซลล์ โดยข้อมูลจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ระบุว่าในปี 2559 ตลาดสเต็มเซลล์มีมูลค่าราว 6,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 15,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราว 547,000 ล้านบาท ในปี 2568 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 9.2%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดดังกล่าวมีการเติบโต ได้แก่การขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อให้สามารถนำผลการทดลองทางคลินิกไปพัฒนาการรักษาโรคต่าง ๆ การค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสเต็มเซลล์จากมนุษย์ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการผลิตสเต็มเซลล์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบศักยภาพในการจัดการโรค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเวชศาสตร์ฟื้นฟู และส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ในอนาคต

Stem Cell ในประเทศไทย กับความหวังใหม่ของวงการแพทย์

ประเทศไทยได้เริ่มมีแนวคิดจัดตั้งโครงการจัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์จากประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี 2542 เพื่อจัดหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แต่ไม่มีญาติพี่น้องที่มี HLA ตรงกัน โดยการบริจาคนี้จะเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่มีการซื้อขาย โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2545 แพทยสภาประกาศข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ในราชกิจจานุเบกษา และกำหนดให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วยโดยจัดตั้ง Thai National Stem Cell Donor Registry (TSCDR) ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากขึ้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Stem Cell หลักที่ดูแลอยู่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ.2565 ในประกาศฉบับนี้ไม่ใช่แค่ Stem Cell แต่ยังรวมถึงเซลล์ใดก็ตามที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์ โดยขณะนี้มีโรคเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ โรคเลือด และโรคทางดวงตา

ในขณะที่ “Stem Cell Banking” ปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรม Stem Cell

ปัจจุบันตลาดเลือดสายสะดือแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ตลาดบริการธนาคารเลือดสายสะดือ และตลาดเซลล์บำบัดที่ได้จากเลือด และเนื้อเยื่อของสายสะดือ บริการธนาคารเลือดสายสะดือประกอบด้วยการเก็บเลือดสายสะดือทันทีหลังคลอด การสกัดเซลล์ที่มีประสิทธิภาพทางการรักษา และการแช่แข็งเพื่อเก็บรักษาในที่ปลอดภัย ซึ่งมีให้บริการทั้งจากธนาคารของรัฐ และเอกชน จากข้อมูลของสมาคมผู้บริจาคไขกระดูกโลก หรือ WMDA เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2023 มีผู้บริจาคเลือดสายสะดือ 40,609,754 รายจาก 57 ประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยเลือดสายสะดือในธนาคารของรัฐทั่วโลกจำนวน 804,314 หน่วย ส่วนในธนาคารเลือดสายสะดือเอกชนมีจำนวนรวมกว่า 6,750,000 หน่วย ซึ่งในทุก ๆ ปีมีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด 35,000-50,000 ครั้ง เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน

Stem Cell เป็นทั้งทางเลือก และความหวังในการดูแลรักษาสุขภาพแห่งอนาคต

ความก้าวหน้าทางงานวิจัยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะเป็นตัวแปร และแรงผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ทั่วโลกได้รับการยอบรับในการทางแพทย์ที่กว้างขวางขึ้นในอนาคต ส่วนสถานการณ์ของสเต็มเซลล์ในประเทศไทยนั้นจะเดินหน้า หรือมีทิศทางอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงทางการแพทย์ นักวิจัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านสเต็มเซลล์ในทุกภาคส่วนจะต้องกำหนดบทบาท และความร่วมมือในการศึกษา พัฒนางานวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้สเต็มเซลล์ในประเทศไทยจะกลายเป็น “ความจริงในปัจจุบัน” ไม่ใช้เพียง ”ความหวังในอนาคตอีกต่อไป”