Phones





TTB ขอไฟเขียวจ่ายปันผลปี 67 วงเงิน 6.3 พันล้านบ.

2025-02-20 09:57:41 137



นิวส์ คอนเน็คท์ - บอร์ด TTB มีมติขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้น 21 เม.ย.นี้ ขอจ่ายเงินปันผลในอัตรา 60% ของกำไรสุทธิในปี 67 และขออนุมัติวงเงินในการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 จำนวน 6,312 ล้านบาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 25 เม.ย. 68 และกำหนดจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด วันที่ 20 พ.ค. 68

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB เปิดเผยว่า สำหรับผลในการดำเนินงานปี 2567 ทีทีบีได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.065 บาทต่อหุ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2567 และเตรียมขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 ภายใต้วงเงิน 6,312 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเงินปันผลต่อหุ้น (Dividend per share) ในเบื้องต้นที่ 0.064 - 0.067 บาท รวมเป็นอัตราเงินปันผลของทั้งปี 2567 ที่ประมาณ 0.13 บาท เพิ่มขึ้นราว 24% จากอัตรา 0.105 บาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ธนาคารจะแจ้งอัตราเงินปันผลต่อหุ้นที่แน่นอนอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน 2568 ภายหลังจากที่ทราบผลการซื้อหุ้นคืนและผลการใช้สิทธิ TTB-W1

การจ่ายเงินปันผลทั้ง 2 ครั้งเทียบเท่ากับอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ที่ 60% จากกำไรสุทธิในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 55% ในปีก่อนหน้า และคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือ Dividend Yield ที่ประมาณ 7% ต่อปี เมื่อเทียบกับราคาหุ้น TTB ณ สิ้นปี 2567 ที่ 1.86 บาท โดยรวมแล้วถือว่าเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงเป็นลำดับต้น ๆ ในกลุ่มธนาคาร

นายปิติกล่าวถึงแผนการบริหารส่วนทุน (Capital management) ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องว่า “ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีทีบียังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและเน้นย้ำการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารสามารถรักษาระดับผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ในประการสำคัญคือสามารถดำรงเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 19.3% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% อย่างมีนัยสำคัญ”

จากฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจึงทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการส่วนทุนส่วนเกิน (Excess capital) และเป็นที่มาของแผนการบริหารส่วนทุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผล จากระดับ 30% - 35% ในช่วงก่อนรวมกิจการ มาอยู่ที่ระดับ 50% และ 55% ในช่วงปี 2565 - 2566 และ 60% ในปี 2567 , 2) การเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ผ่านโครงการซื้อหุ้นคืนระยะ 3 ปี ภายใต้วงเงิน 21,000 ล้านบาท , 3) การสร้างการเติบโตทางธุรกิจจากภายนอก หรือ Inorganic growth โดยธนาคารเตรียมขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต และอยู่ระหว่างการทำ Due Diligence เพื่อพิจารณาการเข้าซื้อบริษัท ที ลิสซิ่ง โดยเล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดและสนับสนุนกลยุทธ์ Ecosystem ของธนาคาร